ในปัจจุบัน หากองค์ธุรกิจการค้าใดแสดงความเพิกเฉยต่อประเด็นด้าน “สิ่งแวดล้อม” อาจทำให้องค์กรนั้นๆ เกิดปัญหาน่าปวดหัวที่แก้ไม่ตกได้ในภายหลัง เนื่องจากปัญหาโลกร้อน หรือปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนับว่าเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ที่สำคัญในบริบทที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มกังวลและหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ ย่อมทำให้เหล่าผู้บริโภคเทใจสนับสนุนธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากกว่า ซึ่งเห็นได้ชัดจากการเติบโตของ Green Marketing นอกจากนี้ยังส่งผลให้สิ่งที่เรียกว่า ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Market) กลายเป็น “เมกะเทรนด์” ที่น่าจับตามองที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันของโลก ซึ่งวันนี้ Talka จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ คาร์บอนเครดิตให้ดียิ่งขึ้นในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจครับ
คาร์บอนเครดิต คืออะไร?
คาร์บอนเครดิต หรือที่เรียกว่าการชดเชยคาร์บอน ใช้อธิบายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) เปรียบเสมือนใบรับรองที่แสดงถึงการลดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศจากโครงการที่ป้องกันหรือลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก นำมาใช้เพื่อเป็นกลไกเพื่อประเทศที่พัฒนาแล้วอาจประสบปัญหาในการลดปริมาณก๊าซ โดยจะมีใบอนุญาตที่อนุญาตให้เจ้าของกิจการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า จำนวนหนึ่ง โดยหนึ่งเครดิตอนุญาตให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งตัน หรือเทียบเท่าในก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ คาร์บอนเครดิตบางประเภท เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม cap-and-trade ซึ่งบริษัทที่ก่อมลพิษจะได้รับเครดิตที่อนุญาตให้พวกเขายังคงก่อมลพิษต่อไปจนถึงขีดจำกัดหนึ่ง ซึ่งจะลดลงเป็นระยะๆ
ในขณะเดียวกัน บริษัทอาจขายสินเชื่อที่ไม่จำเป็นให้กับบริษัทอื่นๆ ที่ต้องการ เหล่าบริษัทเอกชนจึงได้รับแรงจูงใจสองเท่าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประการแรก พวกเขาต้องใช้เงินเพื่อซื้อเครดิตเพิ่มเติม หากการปล่อยมลพิษเกินขีดจำกัด ประการที่สอง พวกเขาสามารถสร้างรายได้ด้วยการลดการปล่อยมลพิษและขายในส่วนเกิน
ผู้เสนอระบบคาร์บอนเครดิตกล่าวว่า กระบวนการนี้จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซที่สามารถวัดผลและตรวจสอบได้จากโครงการปฏิบัติการด้านสภาพอากาศที่ได้รับการรับรอง และโครงการเหล่านี้ลด ขจัด หรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG)
ใจความสำคัญของ คาร์บอนเครดิต
- คาร์บอนเครดิตถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- บริษัทต่างๆ จะได้รับเครดิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และพวกเขาสามารถขายส่วนเกินให้กับบริษัทอื่นได้
- คาร์บอนเครดิตสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้บริษัทต่างๆ ลดการปล่อยคาร์บอน ผู้ที่ไม่สามารถลดการปล่อยมลพิษได้ง่ายยังคงสามารถดำเนินการได้โดยมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น
- คาร์บอนเครดิตอ้างอิงจากโมเดลการค้าที่ใช้เพื่อลดมลพิษจากกำมะถัน ในทศวรรษที่ 1990 ในการประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์ COP26
- ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีข้อตกลง ที่จะสร้างตลาดซื้อขายชดเชยคาร์บอนเครดิตในทุกภูมิภาคทั่วโลก
เป้าหมายสูงสุดของคาร์บอนเครดิต คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คาร์บอนเครดิตแสดงถึงสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งตัน บริษัทหรือประเทศต่าง ๆ ได้รับการจัดสรรเครดิตจำนวนหนึ่งและอาจแลกเปลี่ยนเครดิตเหล่านี้เพื่อช่วยให้สมดุลกับการปล่อยมลพิษทั่วโลก เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ
ตลาด คาร์บอนเครดิต คืออะไร?
ตลาดคาร์บอนเครดิต คือ สิ่งที่ช่วยให้นักลงทุนและองค์กรต่างๆ สามารถซื้อขายทั้งคาร์บอนเครดิตและคาร์บอนออฟเซ็ตหรือการชดเชยคาร์บอนได้พร้อมกัน สิ่งนี้ช่วยลดวิกฤตสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งอย่างที่เรารู้กันดีว่าความท้าทายใหม่ๆ มักจะสร้างตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ และวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังดำเนินอยู่และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกก็ไม่มีข้อยกเว้น ความสนใจในตลาดคาร์บอนนั้นค่อนข้างใหม่ อย่างไรก็ตามตลาดซื้อขายคาร์บอนระหว่างประเทศมีมาตั้งแต่ปี 1997 แล้ว แต่การเกิดขึ้นของตลาดใหม่ในภูมิภาคต่างๆ ได้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดคาร์บอนเครดิต ยังเป็นพื้นที่ของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ปล่อยก๊าซในระดับต่ำจนมีคาร์บอนเครดิตเหลือสามารถนำมาขายให้กับคนที่ปล่อยก๊าซในระดับ “เกินกำหนด” เพื่อชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ทำลายชั้นบรรยากาศในภาพรวม และเมื่อธุรกิจใดต้องใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิต ก็ย่อมต้องมีต้นทุนที่ต้องใช้ในการผลิตเพิ่ม ซึ่งทางเลือกที่ดีกว่า จึงเป็นการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซของตัวเองให้ได้ ปัจจุบัน กลไกตลาดคาร์บอนได้สร้างความตระหนักรู้ถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของมลพิษคาร์บอน และกระตุ้นให้นักลงทุนและผู้บริโภคเลือกเส้นทางที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดราคาการปล่อยคาร์บอน โดยทั่วไป ตลาดคาร์บอนมี 2 ประเภทได้แก่ ตลาดภาคบังคับ (Regulatory carbon market) และ ตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market)
ขั้นตอนแรกในการนำทางสู่ตลาดคาร์บอน คือ การทำความเข้าใจตลาดสองประเภท ได้แก่ ตลาดภาคบังคับและตลาดภาคสมัครใจ โดยตลาดภาคบังคับ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งบริษัทต่างๆ ล้วนมีข้อจำกัดทางกฎหมายในการปล่อยก๊าซ แต่สามารถซื้อหรือขายเครดิตกับบริษัทอื่นได้
ส่วนตลาดภาคสมัครใจ คือ ตลาดที่บริษัทต่างๆ สามารถเลือกชดเชยการปล่อยมลพิษด้วยการซื้อเครดิตที่เกิดจากโครงการกักเก็บคาร์บอน ทั้งสองตลาดทำงานบนพื้นฐานที่ว่า 1 คาร์บอนเครดิต = 1 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์ ตลาดภาคสมัครใจ มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและผู้ปลูกมากที่สุด เนื่องจากมีโอกาสที่จะขายคาร์บอนเครดิตได้ อย่างไรก็ตาม การตระหนักถึงตลาดภาคบังคับนั้นยังคุ้มค่า เนื่องจากผู้ซื้ออาจขอให้เกษตรกรลดการปล่อยมลพิษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อจำกัดที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งต่อไป คือรายละเอียดที่สำคัญของตลาดคาร์บอนเครดิต ทั้ง 2 ประเภทครับ
1. ตลาดคาร์บอนเครดิต ภาคบังคับ (Regulatory carbon market)
ตลาดคาร์บอนภาคบังคับหรือตลาดแบบทางการ เป็นตลาดค้าคาร์บอนเครดิตตามพิธีสารเกียวโต โดยมีการแบ่งกลไกของตลาดออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
- กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เป็นการดำเนินการร่วมกัน ระหว่างกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ให้สัตยาบันต่อ พิธีการสารเกียวโต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหากภาคธุรกิจเอกชนลงทุนพัฒนาโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ (CDM) ในประเทศกำลังพัฒนา และผ่านการตรวจสอบโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้วว่าสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จริง ผู้พัฒนาโครงการนั้นจะได้รับคาร์บอนเครดิตที่เรียกว่า Certified Emission Reductions (CERs) ซึ่งมีหน่วยเป็นตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Ton CO2 Equivalent) CERs จะระบุปริมาณก๊าซเรือนกระจกลดลงที่ตรวจสอบได้ และสามารถซื้อขายกันได้ในตลาดคาร์บอน หรือซื้อขาย ระหว่างผู้ร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว
- กลไกการดำเนินการร่วมกัน (Joint Implementation: JI) กลไกการดำเนินการร่วมกัน เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศในกลุ่มที่มีพันธกรณีในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือประเทศในกลุ่ม Annex I โดยประเทศในกลุ่ม Annex สามารถลงทุนในโครงการ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ในประเทศอื่นในกลุ่ม Annex ด้วยกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า “โครงการ การดำเนินการร่วมกัน”
- กลไกการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (Emission Trading: ET) กลไกการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักในชื่อของ Cap and Trade เป็นกลไกทางการตลาดที่ใช้ในการควบคุมมลพิษโดยอาศัยแรงจูงใจทางเศรษฐกิจในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก กลไก ET นี้จะช่วยให้เกิดการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับจัดสรรและอนุญาตให้ปล่อยระหว่างกลุ่มประเทศที่ มีพันธสัญญาตามพิธีการสารเกียวโต เพื่อลด ปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องควบคุมตามกลไกนี้ถูกเรียกว่าก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการจัดสรรและอนุญาตให้ปล่อย (Assigned Amount Units (AAUs)
2. ตลาดคาร์บอนเครดิต ภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market)
เป็นตลาดที่มีการซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงแบบสมัครใจ ไม่มีกฎบังคับซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ที่ซื้อคาร์บอนชดเชยส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Pure Voluntary) หรือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร สำหรับในประเทศไทย การเข้าร่วมตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจนั้นสามารถขึ้นทะเบียนได้ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อนำสิทธิมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ภายใต้โปรแกรม Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนการปฏิบัติตามนโยบายดีๆ ให้ออกมาเป็นกำไรได้อีกทาง ซึ่งคาร์บอนเครดิตอาจมาจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อมหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ “ลด” การปล่อย หรือโครงการที่ “หลีกเลี่ยง” การปล่อย การชดเชยการกำจัดเกิดจากโครงการที่ดึงคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกต้นไม้ การชดเชยการหลีกเลี่ยงถูกสร้างขึ้นโดยโครงการที่ป้องกันการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ เช่น การหยุดพื้นที่ป่าที่ถูกตัดลง เป็นต้น
สถานการณ์ คาร์บอนเครดิต ในประเทศไทย
ประเทศไทยได้เข้าร่วมในภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ไปเมื่อเดือน พ.ย. 2564 พร้อมการประกาศเป้าหมายสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutral) ให้ได้ภายในปี 2593 ตลอดจนมุ่งมั่นสู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608
สำหรับในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศนั้นเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อไทยได้มีการร่วมมือกับสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ ซึ่งทางสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นผู้สนับสนุนโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีบัส ในกรุงเทพฯ ซึ่งไทยคาดหวังว่าจะสามารถเป็นประเทศคู่แรกของโลกที่ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมีหลักเกณฑ์กำกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ชัดเจน แต่สำหรับธุรกิจที่มีคู่ค้าในต่างประเทศ ควรจะเริ่มศึกษามาตรการลดการปล่อยก๊าซไว้ก่อน เนื่องจากหลายประเทศรุดหน้าไปด้วยการกำหนดตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน หรืออาจมีต้นทุนสูงในการลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับในระยะสั้นอาจได้รับประโยชน์จากราคาคาร์บอนเครดิตของไทยที่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของตนเองด้วยต้นทุนต่ำ ในระยะกลาง การพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานคาร์บอนเครดิตของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขยายความต้องการคาร์บอนเครดิตของไทยไปยังตลาดโลก
ส่งผลให้ช่องว่างของราคาตลาดคาร์บอนเครดิตไทยใกล้เคียงกับตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจที่ดำเนินโครงการเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต อาทิ โครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีการดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนพลังงานสะอาด ย่อมได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนในการพัฒนาโครงการมากขึ้น ประกอบกับการรวมกลุ่มของภาคเอกชนที่จะช่วยสร้างบรรยากาศการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ อีกทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) หรือใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในอนาคต ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนในการสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อโครงสร้างพื้นฐาน และช่วยให้ธุรกิจไทยบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายครับ
แหล่งที่มา :
https://www.scb.co.th , https://www.investopedia.com , https://ahdb.org.uk , https://so05.tci-thaijo.org , https://www.kasikornresearch.com
บทความแนะนำ