เข้าใจ Gen Z อย่างอินไซท์ กำลังซื้อกลุ่มใหม่ เขย่าโลกออนไลน์ด้วยปลายนิ้ว!

Gen Z

Gen Z  คือ กลุ่มผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลสูงสุด (Main Spender) ในโลกของการตลาดออนไลน์ พวกเขาพร้อมจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัว ตั้งแต่การปรับแนวทางการตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ๆ ไปจนถึงการพัฒนากระบวนการชำระเงินให้ตอบสนองความต้องการด้านอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้กระจ่างจึงเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ วันนี้ Talka จะพาทุกคนมาเจาะลึกพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ พร้อมประเด็นต่างๆ ที่ควรรู้เพื่อปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมออนไลน์ของว่าที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อหลักแห่งอนาคตครับ

Gen Z คือใคร?

Gen Z

ทำความเข้าใจ Gen Z คือใคร?

Gen Z คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่าง ปี พ.ศ. 2540 – 2555 หรือเรียกได้ว่าเป็น “Digital Native” เนื่องจากพวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่เกิดมาพร้อมกับ อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟน จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย และมีความชาญฉลาดในการค้นหาผลิตภัณฑ์และแบรนด์ต่างๆ มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ประชากรกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 24% ของจำนวนประชากรทั้งหมด (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) จึงนับว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตลอดจนมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนโลกของการตลาดค่อนข้างมาก

ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้แบรนด์จำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ Generation Z ให้มากขึ้น เพราะถ้าเหลียวมองเพียงแค่กลุ่ม Gen X (2508 – 2522) Gen Y (2523 – 2540) หรือ Millennial (2527 – 2539) ก็ดูจะไม่ทันการณ์กับโลกแห่งยุค Digital Transformation อีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่แบรนด์ควรทำ คือ เต็มใจรับฟังเสียงของคนเจนซีโดยทำความเข้าใจความต้องการของพวกเขา พูดคุยกับพวกเขาด้วยภาษาที่พวกเขาคุ้นเคยและแพลตฟอร์มที่พวกเขาต้องการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วม สร้างความภักดีต่อแบรนด์ และช่วยให้แบรนด์นำหน้าคู่แข่งได้ด้วยการสร้างกลยุทธ์ที่เป็นมิตรกับพวกเขาในแคมเปญการตลาดของแบรนด์ เป็นต้น 

พฤติกรรมของ Gen Z

Gen Z

พฤติกรรมของคน Gen Z

เพื่อทำความเข้าใจจักรวาลของคนรุ่นนี้ เรามาดูภาพรวมในพฤติกรรมของคนเจนนี้กันครับ ว่ามีลักษณะที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

1. พฤติกรรมการใช้จ่าย Gen Z

การใช้จ่ายเงินเป็นตัวขับเคลื่อนความสุขที่ยิ่งใหญ่ของคนเจนซี พวกเขามักให้ความสำคัญกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยี ที่ควบคู่ไปกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้นพวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะมีอำนาจในการใช้จ่ายที่สูงกว่าคนรุ่นอื่นๆ  นอกจากนี้ เจนซียังให้ความสนใจกับธุรกิจขนาดเล็กด้วย พวกเขายังเต็มใจที่จะรอรับส่วนลดดีๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ และใช้ประโยชน์จากตัวเลือกในการชำระเงินต่างๆ  เช่น การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เป็นต้น ที่น่าสนใจ คือ 94% ของประชากรกลุ่มนี้ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ชอบที่จะเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างมากกว่าที่จะเช่า

2. มุมมองต่อโลกของ Gen Z

Generation Z เป็นกลุ่มที่มีมุมมองทางความคิดเปิดกว้างมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ พวกเขาสบายใจมากกับเรื่องความแตกต่างทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่ซับซ้อน และมักให้คุณค่าแก่ตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากบนอินเทอร์เน็ตทำให้พวกเขาทันต่อเหตุการณ์ของบ้านเมือง และค่อนข้างใส่ใจต่อประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม ชอบตั้งคำถาม และตั้งข้อโต้แย้ง ซึ่งพวกเขาตระหนักดีถึงปัญหาต่างๆ ของสังคมในปัจจุบัน เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชน การคอรัปชัน ปัญหาการเมือง และ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม เป็นต้น เนื่องจากพวกเขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมาสู่สังคมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่พวกเขาคาดหวังให้แบรนด์มีความเชื่อหรือมุมมองที่สอดคล้องกับพวกเขา ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าหากพวกเขาเลือกที่จะไม่ใช้จ่ายเงินไปกับแบรนด์ที่มีความเชื่อไม่ตรงกัน 

3. คุณค่าที่ Gen Z แสวงหาจากแบรนด์

คนเจนนี้ เป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด ซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมของโลกดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น พวกเขามักจะพึ่งพาโซเชียลมีเดียในการตัดสินใจซื้ออย่างมีข้อมูล พวกเขามักจะเจาะลึกเว็บไซต์ของแบรนด์ เลื่อนดูบัญชีโซเชียลมีเดีย และอ่านความคิดเห็นและบทวิจารณ์ที่มีต่อแบรนด์อย่างละเอียดและประเมินตัวเลือกต่างๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อ พวกเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับ “แบรนด์เนม” มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ และซื้อด้วยความตั้งใจที่จะมีความสุขเป็นเหตุผลสำคัญ นอกจากนี้พวกเขามักจะถูกโน้มน้าวโดยคำแนะนำของผู้ใช้จริงๆ มากกว่าจากคนที่มีชื่อเสียง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ พวกเขามักให้ค่ากับแบรนด์ที่สนใจปัญหาทางสังคม เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาทางสังคมค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ จากผลสำรวจ พบว่า 80% ของคนกลุ่มนี้ยินดีจ่ายเพิ่มให้กับแบรนด์ที่มีส่วนร่วมหรือรับผิดชอบต่อสังคมหรือให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมและประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นแบรนด์จำเป็นต้องสร้างคุณค่าด้วยพันธกิจที่ชัดเจน

4. ตัวตนของ Gen Z

คน Generation Z เชื่อว่า ความสำเร็จ คือ “การมีความสุขกับตัวตนที่ฉันเป็น แม้ว่าคนอื่นจะมองอย่างไรก็ตาม” พวกเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษ์และอัตตลักษณ์ส่วนตัว และมองว่าการตัดสินใจซื้อคือการแสดงออกถึงค่านิยมและอัตลักษณ์ของตัวเอง พวกเขาเต็มใจที่จะซื้อสินค้าที่สามารถเสริมสร้างภาพลักษณ์บางอย่างแก่พวกเขา จึงเป็นเรื่องธณรมดาที่พวกเขามักสนับสนุนแบรนด์ที่ช่วยให้พวกเขาสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตในยุคโซเชียลมีเดียที่มีส่วนในการหล่อหลอมให้พวกเขาต้องการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองและแสดงตัวตนต่อสาธารณชน โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ 68% ของคนกลุ่มนี้เห็นด้วยกับการแสดงตัวตนที่ชัดเจนบนโซเชียลมีเดียในแบบที่ “เป็นตัวของตัวเอง” มากกว่าการสร้าง “ตัวตนแบบประดิษฐ์” 

5. พฤติกรรมออนไลน์ Gen Z

เราจะพูดถึงพฤติกรรมด้านต่างๆ ของเจนแซดไม่ได้เลย ถ้าสุดท้ายแล้วไม่ได้พูดถึงพฤติกรรมออนไลน์ของพวกเขา พวกเขาเป็นคนรุ่นเดียวที่ได้รับการเลี้ยงดูมาในโลกที่รายล้อมไปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งผลให้ชีวิตประจำวันของพวกเขาเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์และมีส่วนร่วมทางออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ทั้งการเสพข่าวสารจากเฟซบุ๊ก อ่านรีวิวสินค้าและบริการ หรือแชร์ชีวิตส่วนตัวและเรื่องราวในชีวิตประจำวันผ่านอินสตาแกรม เป็นต้น

ซึ่งถ้าหากแบรนด์ต้องการเชื่อมต่อกับคนรุ่นนี้ แน่นอนว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์อย่างมีกลยุทธ์ เพื่อดึงดูดความสนใจจากพวกเขา นอกจากนี้คนรุ่นใหม่จะไม่เสพสื่อแบบเดิมๆ เช่น โทรทัศน์และวิทยุ อีกต่อไป ดังนั้นหากแบรนด์ต้องการเชื่อมต่อกับพวกเขา ต้องไม่ลืมที่จะสื่อสารกับพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มโซเชีลมีเดียต่างๆ หรือ วิดีโอที่พวกเขาชื่นชอบ เช่น TikTok และ YouTube ด้วย

กลยุทธ์พิชิตใจ Generation Z

Gen Z

กลยุทธ์พิชิตใจ Generation Z

ในยุคนี้ กลยุทธ์หรือกลวิธีทางการตลาดแบบเดิมๆ อาจดึงดูดความสนใจจากคนเจนซีได้ยาก ด้วยพวกเขามีสมาร์ทโฟนในมือจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลมากมายได้เพียงปลายนิ้ว หากแบรนด์ยังไม่เคยเริ่มนึกถึงคนรุ่นใหม่ ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะเริ่มต้น ด้วยกลยุทธ์บางอย่างที่สามารถปรับให้เหมาะและเจาะเจนซีได้ ซึ่งต่อไปนี้ คือแนวทางการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะกับ Generation Z เพื่อช่วยให้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภครุ่นใหม่เหล่านี้ได้อย่างราบรื่นครับ 

1. สร้างเนื้อหาที่ง่ายต่อการใช้งานผ่านมือถือ (Mobile Friendly)

Generation Z เกิดมาพร้อมๆ กับสมาร์ทโฟน เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ของคนวัยนี้มีสมาร์ทโฟนเครื่องแรกในช่วงอายุ 11 ถึง 13 ปี และเนื่องจากพวกเขาเลื่อนดูโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา หากแบรนด์ไม่ปรับเนื้อหาของการแสดงผลให้เหมาะกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ซึ่งคนกลุ่มนี้ใช้งานเป็นหลัก อาจถือเป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวง ดังนั้นทางที่ดีควรสร้างเนื้อหาที่เหมาะกับประสบการณ์การใช้งานบนมือถือ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงเนื้อหาของแบรนด์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายที่สุดเอาไว้ก่อน 

2. ปรับเนื้อหาให้เหมาะสมสำหรับแต่ละแพลตฟอร์ม

เจนซี มีแนวโน้มที่จะช้อปปิ้งกับร้านค้าออนไลน์หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ของแบรนด์มากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ถึง 2 เท่า พวกเขาใช้งานหลายแพลตฟอร์มและหลายหน้าจอ นอกจากนี้พฤติกรรมของคนเจนนี้ในแต่ละแพลตฟอร์มยังมีความแตกต่างกัน ดังนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารนั้นพร้อมใช้งานได้ทุกเวลาและทุกที่ที่ต้องการ ตลอดจนการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่แตกต่างกันเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันย่อมเป็นทางเลือกที่ดี ไม่ควรแชร์เนื้อหาเดียวกันบน Facebook เหมือนกับที่แชร์บน Instagram กล่าวคือ ควรปรับแต่งเนื้อหาให้เข้ากับธรรมชาติของผู้บริโภคในแต่ละแพลตฟอร์ม

3. สร้างบุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Identity)

หากต้องการมีส่วนร่วมและเชื่อมต่อกับ Generation Z อย่างราบรื่น อาจถึงเวลาที่แบรนด์ต้องบอกลาเนื้อหาเดิมๆ ได้แล้ว เช่น เนื้อหาที่ไม่มีภาพ หรือมีภาพแต่ดูเรียบง่ายไม่โดดเด่นสะดุดตา คนเจนซีต้องการแบรนด์ที่แสดงถึงความกล้าหาญ มีน้ำเสียงที่หนักแน่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและไม่กลัวที่จะแตกต่าง นอกจากนี้ แบรนด์ต้องมีความโปร่งใส และเป็น “ของจริง”เสมอในสายตาของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อแบรนด์สามารถสร้างบุคลิกบางอย่าง เช่น เป็นแบรนด์ที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ แต่เกิดพลาดในจุดเล็กๆ อย่างการไม่เปลี่ยนภาพโปรไฟล์เพจ Facebook ของแบรนด์ให้่สอดคล้องกับช่วง Pride Month (ธีมสีรุ้ง) ก็มีสิทธิที่คนเจนซีจะมองว่าแบรนด์นั้นเป็น “ของปลอม” ได้ในทันที

4. สร้างโปรไฟล์โซเชียลมีเดียให้ดึงดูด

ด้วยความที่พวกเขา คือ ชาว “Digital Native” จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะใช้ชีวิตประจำวันอยู่บนโซเชียลมีเดียเกือบตลอดเวลาซึ่งย่อมมีบทบาทที่สำคัญในพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค ดังนั้นแบรนด์ที่ต้องการเชื่อมต่อกับผู้บริโภครุ่นใหม่ต้องเข้าใจวิธีสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างการติดตามที่แข็งแกร่งบนโซเชียลมีเดีย ต่างๆ ทั้ง Facebook Line TikTok Instagram และ YouTube ด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย แบรนด์ควรต้องก้าวทันต่อเหตุบ้านการเมือง เช่น หมั่นติดตามเทรนด์ฮิตทางสังคม เพื่อนำมาสร้างสรรค์คอนเทนต์แบบเรียลไทม์ (Realtime Content) เพราะโดยทั่วไปแล้ววคอนเทนต์ประเภทนี้มักได้ Engagement หรือสร้างการมีส่วนร่วมจากคนเจนซีได้ดี

5. สร้างกลยุทธ์การตลาดวิดีโอ

การสร้างวิดีโอเพื่อแสดงเนื้อหาที่น่าสนใจของแบรนด์จะช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภควัยหนุ่มสาวหลายพันคนที่เรียกดูและค้นหาวิดีโอที่ให้ความบันเทิงได้อย่างต่อเนื่อง การสร้างกลยุทธ์วีดีโอไม่เพียงแต่ตอบโจทย์สำหรับช่อง YouTube ของแบรนด์เท่านั้น แต่แบรนด์ยังสามารถนำวิดีโอต่างๆ มาใช้กับเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแคมเปญการตลาดทางอีเมลได้อีกด้วย ด้วยกลยุทธ์การตลาดผ่านวิดีโอที่แข็งแกร่ง จะช่วยให้แบรนด์สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วม พัฒนาความภักดีต่อแบรนด์ และทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

6. ใช้กลยุทธ์ Micro-Influencers

คนเจนซีคาดหวังว่าจะได้รับคุณค่าจากแบรนด์ ซึ่งหมายความว่าแบรนด์ต่างๆ จำเป็นต้องหาวิธีใหม่ๆ เพื่อดึงดูดพวกเขา แบรนด์ที่พยายามมีส่วนร่วมกับประชากรกลุ่มนี้ อาจต้องสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับพวกเขา เช่น การเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ด้วยผู้มีอิทธิพลต่อเจนซีซึ่งแบรนด์อาจจำเป็นต้องเลือกใช้กลยุทธ์ Micro Influencer ที่มีผู้ติดตามระหว่าง 1,000 ถึง 100,000 คน เข้ามาช่วยโน้มน้าวการตัดสินใจของคนเจนซี เหตุที่เป็น เช่นนี้เนื่องจากพวกเขามักเชื่อมต่อกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ได้ง่ายกว่า และอย่างที่รู้กันว่าผู้ที่มีชื่อเสียง หรือ Influencer ที่มีคนติดตามหลักแสนหลักล้านอาจไม่สามารถโน้นมน้าวคนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อการควบคุมเรื่องงบประมาณ เนื่องจากแบรนด์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากให้กับอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง

7. สร้างกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม

วิธีที่ดีที่สุดในการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคเจนซี คือ การสื่อสารด้วยเนื้อหาที่สอดคล้องกับความสนใจของพวกเขา และอย่างที่รู้กันว่าเจนซีสนใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นพิเศษ คนรุ่นนี้ได้รับพลังจากความเชื่อและไม่กลัวที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องซึ่งรวมถึงวิธีที่พวกเขาโต้ตอบกับแบรนด์ จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคเจนซี 63% กล่าวว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อจากบริษัทที่ช่วยเหลือสังคมมากขึ้น ดังนั้น ควรดึงดูดความสนใจของเจนซีด้วยพันธกิจของแบรนด์ที่แท้จริงซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขาในฐานะผู้บริโภคที่มีความใส่ใจต่อสังคม

8. ให้ความสำคัญกับความถูกต้องเป็นหลัก

เจนซีมักให้ความสำคัญกับความถูกต้องของแบรนด์เป็นอย่างมาก และต้องการรู้สึกราวกับว่าแบรนด์ต่างๆ กำลังพูดคุยกับพวกเขาโดยตรงผ่านเนื้อหาที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะดังนั้นการทำ Personalized Marketing จึงจำเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาคาดหวังการสนทนาแบบสองทางที่แท้จริง ซึ่งแบรนด์ต่างๆ ต้องสามารถพูดภาษาที่เข้าใจความต้องการของพวกเขาและสอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขา ดังนั้นควรมุ่งเน้นที่การนำองค์ประกอบที่เป็นมนุษย์ มาสู่กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลเพื่อปรับแต่งข้อความของแบรนด์ในแบบเฉพาะตัว สื่อสารค่านิยมหลักอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความสัมพันธ์กับอันดีกับพวกเขา นอกจากนี้สำหรับคนเจนซีแล้วพวกเขามักมองว่า “ความจริงสำคัญกว่าความสมบูรณ์แบบ” แบรนด์อาจทำผิดพลาดและมีข้อบกพร่องบางอย่างได้ตราบใดที่ยอมรับข้อบกพร่องและแสดงความจริงใจในการปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดของผลิตภัณฑ์และบริการ

 

 

 

 แหล่งที่มา :

https://www.parallelinteractive.com

https://www.hakuhodo-global.com

https://cdn.nrf.com

บทความแนะนำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *