Sale Page (เซลเพจ) คืออะไร เพราะเหตุใด ทุกธุรกิจออนไลน์ จำเป็นต้องมี!

sale page

หากคุณกำลังทำธุรกิจออนไลน์ หรือมีเว็บไซต์ E-Commerce ไม่ว่าจะเพื่อขายของออนไลน์มีผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่ต้องการนำเสนอบนเว็บไซต์ของคุณ การมีสิ่งที่เรียกว่า Sale Page ติดเว็บไซต์เอาไว้ ย่อมการันตีได้ว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายของคุณได้อย่างแน่นอน ซึ่ง Talka จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจในความหมายและหน้าที่ของ Sale Page ตลอดจนประโยชน์ของเซลเพจ ที่จะนำมาซึ่งยอดขายสุดปัง!ให้คุณได้ บอกได้คำเดียวว่าคนขายของออนไลน์ในยุคดิจิทัลทุกคนจำเป็นต้องรู้ครับ

Sale Page คืออะไร

sale page
ความหมายของ Sale Page (เซลเพจ) หรือ สะกดให้ถูกตามหลักภาษาว่า Sales Pages พอแปลตรงตัว ก็บอกได้ทันทีเลยครับว่ามันคือ “หน้าการขาย” เซลเพจเป็นหน้าเว็บไซต์แบบ Standalone (สแตนด์อโลน) หรือ “เว็บไซต์หน้าเดียว” ที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการขาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อกระตุ้นยอดขาย หรือเพื่อรักษายอดขายสำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ ซึ่งไม่ว่าคุณจะขายอะไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของหน้าการขายของคุณย่อมไม่ต่างกัน คือ ทำให้ผู้ที่คลิกเข้ามาชมเว็บไซต์กลายมาเป็นลูกค้าของคุณได้ในที่สุด
หน้าเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่ในการขาย ถือ เป็นส่วนสำคัญของเว็บไซต์ขายสินค้าหรือบริการ ด้วยเป็นส่วนสำคัญของสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการขาย เป็นหน้าที่แสดงถึงรายละเอียดและจุดเด่นของผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณว่าจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้แก่ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่รวบรวม ราคาสินค้า รูปภาพ หรือวีดีโอ และรีวิว ปุ่มสั่งซื้อ ตลอดจนปุ่มสำหรับติดต่อกับผู้ขายผ่านทางช่องทางต่างๆ อาทิ Facebook หรือ Line Official Account เป็นต้น ซึ่งเซลเพจที่มีอัตราการแปลงที่ดี (Good Conversion Rate) ที่สามารถเปลี่ยนให้คนแปลกหน้ากลายเป็นลูกค้าได้ ควรประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วผ่านกรณีศึกษาและผ่านการพิสูจน์ทางสังคม ดังนั้นเรามาดูองค์ประกอบบางอย่างที่ควรปรากฏในหน้าเซลเพจกันครับ
  • หน้าเพจที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

ก่อนอื่นคุณจะต้องออกแบบหน้าเซลเพจให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของคุณ ซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้นตอนแรกในการออกแบบหน้าเซลเพจที่ดี คุณต้องรู้ว่าผู้ชมของคุณมีปัญหาอะไรและคุณจะนำเสนอวิธีแก้ปัญหาแก่พวกเขาได้อย่างไร คุณต้องสื่อสารและโน้มน้าวพวกเขาด้วยวิธีการที่เหมาะสม ที่ทำให้เห็นว่ามีเพียงคุณคนเดียวทีรู้ซึ้งถึงวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพวกเขาได้อย่างตรงจุดและถูกประเด็น

  • เรื่องราวความสำเร็จของคุณ

เนื้อหาในหน้าการขายที่ดีที่สุดควรมีเรื่องราวความสำเร็จของคุณรวมอยู่ด้วย เรื่องราวความสำเร็จของคุณ อาทิ รีวิวจากผู้ใช้จริง จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เยี่ยมชมว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณใช้ได้ผลจริง หากผู้คนเห็นว่าคนอื่นๆ พึงพอใจหรือประสบความสำเร็จจากผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คุณเสนอขาย พวกเขาจะเต็มใจที่จะลองด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น และในที่สุดพวกเขาจะยอมรับว่าสินค้าหรือบริการของคุณเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาของพวกเขาได้

  • คำกระตุ้นการตัดสินใจ (Call to Action)

ข้อความกระตุ้นการตัดสินใจที่อาจฝังลิงค์ให้สามารถคลิกไปสู่ขั้นตอนต่างๆ ในการซื้อ ถือเป็นส่วนสำคัญของทุกหน้า Sale Page ก็ว่าได้ เพราะหากคุณหวังให้ผู้เยี่ยมชมของคุณทำในสิ่งที่คุณคาดหวัง คุณต้องเรียกร้องให้พวกเขาดำเนินการบางอย่าง มิฉะนั้น พวกเขาอาจไม่ดำเนินการใดๆ บนหน้านั้นเลยก็ได้ คำกระตุ้นการตัดสินใจ หรือ Call to Action ควรเป็นถ้อยคำกระตุ้นเพื่อโน้มน้าวให้ผู้เข้าชมหน้าเซลเพจกระทำบางสิ่ง ไม่ว่าเหตุผลของคุณเพียงเพื่อต้องการให้พวกเขาดูวิดีโอแนะนำผลิตภัณฑ์ หรือทำการซื้อจริงก็แล้วแต่คุณจำเป็นต้องใช้คำกระตุ้นการตัดสินใจเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้คนเข้าสู่กระบวนการขายของคุณทุกครั้ง

  • สินค้าหรือบริการที่มอบคุณค่าสูง

ยิ่งคุณให้คุณค่ากับผลิตภัณฑ์ หรือ บริการของคุณมากเท่าไหร่ ผู้คนจะปฏิเสธได้ยากขึ้น ซึ่งคุณจะสามารถปิดการขายได้มากขึ้น วิธีการนี้มักจะทำได้โดยการให้มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่คุณเสนอขาย เช่น การจัดส่งฟรี บริการหลังการขาย หรือโปรโมชั่นต่างๆ ที่ดึงดูดใจ

  • เหตุผลที่ต้องซื้อ

มีเหตุผลต่างๆ มากมาย ที่ผู้คนจะตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการ หากคุณต้องการให้อัตราการแปลง (Conversion Rate) ของคุณสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ถึงเหตุผลที่แท้จริงที่ผู้คนอยากซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ จากนั้นคุณสามารถสร้างเหตุผล หรือข้อเสนอต่างๆ ที่คุณคิดว่าจะสามารถส่งผลต่อจิตวิทยาของผู้ซื้อได้ เช่น เล่นกับความกลัวของผู้ซื้อโดยการสร้างความรู้สึกว่าหากพวกเขาพลาดข้อเสนอและโอกาสสุดพิเศษครั้งนี้ไป พวกเขาอาจไม่มีโอกาสหน้าอีก เป็นต้น ซึ่ง เมื่อเซลเพจของคุณมีองค์ประกอบข้างต้นครบแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่คุณจะต้องทำหากต้องการเปลี่ยนผู้เยี่ยมชมให้เป็นผู้ซื้อ คือ การดึงดูดผู้เยี่ยมชมมายังเพจของคุณด้วยกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลต่างๆ ซึ่งมีหลายวิธีที่คุณสามารถใช้ได้ ดังต่อไปนี้

  • การตลาดผ่านอีเมล (Email Marketing) : การตลาดผ่านอีเมล ถือเป็นวิธีการอันดับต้นๆ ที่ใช้เพื่อให้ผู้คนเข้าชมหน้าเซลเพจ เหตุผลก็คือ มันค่อนข้างง่ายที่จะให้ใครบางคนป้อนที่อยู่อีเมลของพวกเขา หลังจากนั้นคุณสามารถใช้อีเมลที่มีได้มากเท่าที่คุณต้องการ พัฒนาความสัมพันธ์กับสมาชิกแต่ละคนด้วยวิธีต่างๆ ที่กระตุ้นให้พวกเขาใจอ่อนลงหรือเปิดใจยอมรับ เพื่อที่คุณจะสามารถเสนอขายสินค้าหรือบริการอของคุณต่อไป
  • การตลาดเนื้อหา (Content Marketing) การตลาดเนื้อหาเป็นกระบวนการของการเผยแพร่เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นในการค้นหา ด้วยวิธีนี้ การตลาดเนื้อหาจะช่วยให้คุณเพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ และนำทางผู้เยี่ยมชมไปยังหน้าการขายของคุณจากที่นั่น
  • โซเชียลมีเดีย (Social Media) โซเชียลมีเดียเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการดึงดูดผู้เข้าชมให้มาที่หน้าการขายของคุณ หากคุณสามารถทำให้ผู้เยี่ยมชมติดตามคุณบนโซเชียลมีเดียโดยการจัดหาเนื้อหาอันมีค่าให้พวกเขา พวกเขาอาจเต็มใจที่จะตรวจสอบหน้าการขายของคุณ และแปลงเป็นลูกค้าจริง
  • บทความ หรือ บล็อกโพสต์  (Article / Blog Post) คุณสามารถใช้บทความหรือบล็อกโพสต์เพื่อดึงดูดผู้คนมาที่หน้าการขายของคุณได้เช่นกัน วิธีดำเนินการโดยทั่วไปคือการสร้างบทความหรือบล็อกที่มีประโยชน์เพื่อดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายของคุณเข้ามาติดตามโพสต์บทความใหม่ๆ ของคุณเป็นประจำ เมื่อพวกเขาอ่านบทความของคุณ คุณสามารถรวมวิธีการต่างๆ เพื่อให้พวกเขาคลิกเข้าไปติดตามหน้าการขายของคุณได้ ซึ่งบางคนอาจใช้เทคนิคในการปรับแต่ง SEO (Search Engine Optimization) เพื่อให้บทความที่เชื่อมต่อกับข้อมูลของสินค้าและบริการถูกค้นพบได้ง่ายขึ้นในช่องทางของ Google Search เป็นต้น  

ประเภทของ Sale Page

sale page

โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งประเภทของเซลเพจออกได้เป็น 2 ประเภท คือ เซลเพจแบบสั้น (Short-form Sales Page) และ เซลเพจแบบเยาว (Long-form Sales Page) อย่างไรก็ตาม หน้าเซลเพจทั้งสองประเภทได้รับการออกแบบที่คล้ายกัน ด้วยมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ผู้เข้าชมของคุณต้องทำความรู้จัก และตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการคลิกคำกระตุ้นการตัดสินใจ (CTA) หรือไม่ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในบางเรื่อง เรามาดูไปพร้อมกันครับว่า เซลเพจทั้งสองแบบนั้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันอย่างไร

1. Sale Page แบบสั้น (Short-form Sales Pages)

เซลเพจแบบสั้น คือ หน้าการขายที่มีเนื้อหา หรือ ข้อความไม่หนาแน่น บางครั้งหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าเซลเพจแบบสั้น คือ เซลเพจแบบยาว เพราะบางครั้งเซลเพจแบบสั้นผู้ใช้อาจต้องคลิกเลื่อนหน้าเว็บลงมาเรื่อยๆ เพื่อดูเนื้อหาในทางยาว แต่รูปแบบสั้นในที่นี้จะหมายถึงความยาวของข้อความ ไม่ใช่ความยาวของหน้า ดังนั้นความยาวของหน้าจึงมีความยาวได้ แต่หากเนื้อหาและข้อความมีไม่เยอะ ก็จะถือว่าเป็นเซลเพจแบบสั้นครับ โดยทั่วไปยิ่งสินค้าที่เสนอขายมีราคาถูกก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำหรือข้อความจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมหน้าขายแบบสั้นจึงนิยมใช้สำหรับเซลเพจของสินค้าที่มีราคาไม่แพง เช่น หนังสือ เป็นต้น ดังนั้น เซลเพจแบบสั้นจึงเหมาะกับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ส่วนใหญ่จะเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าไม่สูงมากนัก ซึ่งเมื่อสินค้าและบริการมีมูลค่าไม่สูง ผู้ขายจึงไม่จำเป็นต้องใช้ข้อความหรือข้อมูลที่มากมายเพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนตัดสินใจซื้อ ต่างจากสินค้าราคาสูงหรือเชิงเทคนิคที่จำเป็นต้องมีข้อมูลข้อความหรือคำอธิบายที่ครบถ้วนเพื่อทำหน้าที่โน้มน้าวใจผู้เยี่ยมชมในระดับสูงที่สุดได้

2. Sale Page แบบยาว (Long-form Sales Pages)

บางคนเรียกเซลเพจแบบยาวว่า Minisite หรือ Mini Website ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะด้วยลักษณะของหน้าเซลเพจแบบยาวจะประกอบด้วยข้อมูลมากมายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณที่ลูกค้าต้องใช้เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของคุณก่อนการตัดสินใจซื้อจนบางครั้งมันก็ดูเหมือนเป็นหน้าเว็บไซต์แบบย่อมๆ ของสินค้าหรือบริการนั้นๆ นั่นเองครับ

หน้าเซลเพจแบบยาวทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับข้อเสนอเพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูล ข้อมูลทั้งหมดของผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างครบถ้วน แม้ว่าหน้าเซลเพจแบบยาวจะมีจุดประสงค์เช่นเดียวกับหน้าเซลเพจแบบสั้น คือเพื่อโน้มน้าวให้คนซื้อ อย่างไรก็ตามสิ่งที่แตกต่างกัน คือ เนื้อหาของข้อความที่มีมากกว่า ซึ่ง ต่อไปนี้ คือ บางสถานการณ์ที่หน้าเซลเพจแบบยาวสามารถทำงานได้ดีกว่าหน้าเซลเพจแบบสั้นครับ

  • มื่อผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์แทบไม่รู้จักธุรกิจมาก่อน  ด้วยหน้าเซลเพจแบบยาวจะช่วยทำหน้าที่สร้างความไว้วางใจ ด้วยการสร้างข้อความอธิบายถึงเหตุผลอย่างละเอียดว่าทำไมผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ถึงควรเรียนรู้จากคุณ คุณช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร 
  • เมื่อสินค้าและบริการมีข้อเสนอเพิ่มเติมที่ซับซ้อน เมื่อคุณจัดแคมเปญเปิดตัวครั้งใหญ่ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาจมีการเพิ่มโบนัสหรือข้อเสนอพิเศษต่างๆ เพื่อทำให้ข้อเสนอนั้นดูน่าสนใจมากยิ้งขึ้น 
  • เมื่อสินค้าและบริการมีราคาสูงหรือเป็นเชิงเทคนิค เป็นธรรมดาที่ผู้คนจะตัดสินใจซื้อได้ยากกว่าในกรณีที่สินค้าหรือบริการมีราคาสูงหรือมีความซับซ้อนในเชิงเทคนิค ดังนั้นการมีข้อมูลในเชิงลึกที่ครบถ้วนกระบวนความเพื่อให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ทำความรู้จักและเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งก่อนตัดสินใจซื้อจึงจำเป็นต้องใช้รูปแบบของเซลเพจแบบยาวที่มีข้อความจำนวนมากนั้่นเองครับ

ความแตกต่างของหน้าเพจแต่ละแบบ

เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่อาจจะยังสงสัยว่า Sale Page แตกต่างจาก Landing Page หรือ Home Page อย่างไร? ต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ Home Page และ Landing Page แตกต่างกับ Sale Page ครับ

Home Page

Home Page คือ หน้าเว็บที่ทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นหน้าแรกของทุกเว็บไซต์ เป็นหน้าที่มีการโหลดเป็นอันดับแรกเมื่อคุณเยี่ยมชม Web Address ที่เป็นโดเมนเนมเฉพาะ ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเยี่ยมชม https://talkatalka.com/ ก็จะแสดงหน้าแรกที่ผู้เยี่ยมชมสามารถคลิกหัวข้อเมนูต่างๆ ที่นำทางไปยังส่วนอื่นๆ บนเว็บไซต์ของ TalkaTalka ได้ แต่แม้ว่าจะมีการลิงก์ไปยังหน้าอื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของเว็บได้โดยตรงก็ตาม โดยปกติหน้าเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นหน้า Landing Page โดยเป็นการแนะนำคำอธิบายวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์และยังใช้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจจากผู้เข้าชมไปยังส่วนอื่นๆ ของเว็บไซต์

Landing Page

Landing Page คือ หน้าเว็บแบบสแตนด์อโลน เช่นเดียวกับ เซลเพจ จึงไม่แปลก หากมีคนนิยามว่าเซลเพจ ก็คือ ลักษณะหนึ่งของ Landing Page แต่ความต่างอยู่ตรงที่ Landing Page เป็นหน้าเว็บไซต์ซึ่งผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าจะสามารถ “เข้าถึง” ได้ เมื่อคลิกผ่านจาก อีเมล โฆษณา หรือจากแหล่งอื่นๆ ในอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ Landing Page ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้ติดต่อเพื่อแลกกับสิ่งที่มีมูลค่าทางการตลาด  เช่น ข้อเสนอทางการค้า หรือข้อมูลเชิงลึกระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) Landing Page แตกต่างจากหน้าเว็บไซต์อื่นๆ เนื่องจากไม่ได้ใช้งานเป็นส่วนหนึ่งของการนำทางไปยังส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์ กล่าวคือ ไม่ได้แสดงอยู่ในเมนูที่อยู่บนหน้า Home Page นั่นเอง นอกจากนี้ Landing Page จะถูกสร้างขึ้นหรือถูกใช้ตามวัตถุประสงค์เฉพาะในช่วงเวลาเฉพาะของแคมเปญโฆษณาให้กับผู้ชมเป้าหมายเท่านั้น

แหล่งที่มา :

https://teachable.com/blog/

https://www.indeed.com/

บทความแนะนำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *