Hacker คือใคร? มีกี่ประเภท พร้อมวิธีป้องกันการโดนแฮก

Hacker

Hacker –  เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักหรือคุ้นเคยกับคำว่า “แฮกเกอร์” กันเป็นอย่างดีใช่มั้ยครับ หรือบางคนอาจเคยมีประสบการณ์โดนเหล่าแฮกเกอร์ขโมยข้อมูลหรือแฮกบัญชีโซเชียลมีเดียหรือบัญชีอีเมลต่างๆ กันมาบ้างไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามวันนี้ Talka จะพาทุกคนมาทำความรู้จักโลกของแฮกเกอร์ พร้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของแฮกเกอร์ที่ความจริงแล้วมีอยู่หลายประเภท ตลอดจนวิธีป้องกันและรับมือเหล่าอาชญากรไซเบอร์เพื่อไม่ให้คุณทั้งในฐานะ องค์กร หรือ บุคคล ต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดีได้ง่ายๆ ครับ 

Hacker คืออะไร?

Hacker คืออะไร

ทำความเข้าใจ Hacker คืออะไร?

แฮกเกอร์ (Hacker) คือ บุคคลที่มีทักษะทางเทคนิคด้านคอมพิวเตอร์ และใช้ทักษะเหล่านี้เพื่อละเมิดการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cyber Security ซึ่งมักมีจุดประสงค์ที่เป็นอันตราย คำว่า “แฮกเกอร์” ยังหมายถึงบุคคลที่ใช้ความสามารถของตนเพื่อเข้าถึงระบบหรือเครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อก่ออาชญากรรม เช่น การขโมยข้อมูลหรือขัดขวางบริการ อย่างไรก็ตาม คำนี้ยังสามารถใช้เพื่ออธิบายถึงแฮกเกอร์ที่มีจริยธรรมซึ่งใช้ทักษะของตนเพื่อทดสอบช่องโหว่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และช่วยองค์กรปรับปรุงการป้องกันความปลอดภัยของตนอีกด้วย ซึ่งเราจะกล่าวถึงกันในส่วนต่อไปครับ
 

ประวัติความเป็นมาของ Hacker และการแฮก

ประวัติความเป็นมาของแฮกเกอร์นั้นมีมานานหลายทศวรรษและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการแสวงหาความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่ขับเคลื่อนด้วยความอยากรู้อยากเห็น ไปจนถึงกิจกรรมที่ซับซ้อนและมักเป็นอันตรายอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
 

จุดกำเนิดของแฮกเกอร์

ที่มาของคำว่า “แฮกเกอร์” ต้องย้อนกลับไปในยุคแรกๆ ของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และวัฒนธรรมของแฮกเกอร์ ซึ่งเกิดขึ้นใน Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1960 และ 1970 ช่วงเวลานั้น คำว่า “แฮกเกอร์” ถูกใช้เพื่อเรียกบุคคลที่หลงใหลในการสำรวจและก้าวข้ามขอบเขตของระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ แฮกเกอร์ในยุคแรกๆ มักเป็นโปรแกรมเมอร์และนักเทคโนโลยีที่เก่งกาจ ซึ่งมีความภาคภูมิใจในความสามารถในการเข้าใจและจัดการระบบคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน ในช่วงนั้น “แฮกเกอร์” มักมีความหมายแฝงเชิงบวก โดยหมายถึงบุคคลที่มีทักษะการเขียนโปรแกรมที่ยอดเยี่ยม และความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับวิธีการทำงานของสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่รู้จักพอ แฮกเกอร์ยุคแรกๆ เหล่านี้จะใช้เวลานับไม่ถ้วนในการซ่อมแซมระบบ เขียนโค้ด และค้นหาวิธีแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรมสำหรับปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งหนึ่งในชุมชนแฮกเกอร์ที่โดดเด่นที่สุดในยุคแรกๆ คือ Tech Model Railroad Club (TMRC) ซึ่งเป็นเสมือนแหล่งบ่มเพาะโปรแกรมเมอร์มือฉมังที่มีความสามารถและหายใจเขาออกเป็นคอมพิวเตอร์
 
สมาชิกของ TMRC มักจะมีส่วนร่วมในกิจกรรม “การแฮก” เช่น การเขียนซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมรถไฟจำลองหรือค้นหาวิธีที่สร้างสรรค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบคอมพิวเตอร์เมื่อวัฒนธรรมของแฮกเกอร์พัฒนาขึ้น มันก็มีความเกี่ยวข้องกับชุดหลักการและค่านิยมทางจริยธรรมที่เน้นย้ำถึงเสรีภาพในข้อมูล ความอยากรู้อยากเห็นทางปัญญา และความไม่พอใจต่ออำนาจและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด แฮกเกอร์ในยุคแรกๆ จำนวนมากเชื่อในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเสรีและการเคลื่อนไหวของโอเพ่นซอร์ส ซึ่งส่งเสริมการแบ่งปันและการทำงานร่วมกันของโค้ดซอฟต์แวร์อย่างไรก็ตาม เมื่อระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงกันมากขึ้นและเข้าถึงได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต คำว่า “แฮกเกอร์” ก็เริ่มมีความหมายเชิงลบมากขึ้น เนื่องจากมีคนบางกลุ่มที่เริ่มใช้ทักษะการแฮกเพื่อจุดประสงค์ที่เป็นอันตราย เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต การขโมยข้อมูล หรือทำให้เกิดการหยุดชะงักของระบบ เป็นต้น
 

ยุคแรกของการแฮกคอมพิวเตอร์

การถือกำเนิดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของการแฮก เมื่อคอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ผู้คนก็เริ่มสำรวจความสามารถของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การสร้างไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวแรก นั่นคือ ไวรัสที่ชื่อว่า Creeper ในปี 1971 ซึ่งนี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ดิจิทัล มันคือการเน้นย้ำถึงศักยภาพของภัยคุกคามทางไซเบอร์และเป็นเสมือนการวางรากฐานสำหรับการก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 
ในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 สถิติการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยมีเหตุการณ์ครั้งสำคัญ เช่น การแฮกระบบ NASA และการแพร่กระจายของเวิร์มคอมพิวเตอร์ เช่น Morris Worm เหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับช่องโหว่ของระบบที่ว่ากันว่ามีความปลอดภัยที่สุด ซึ่งได้นำไปสู่การพัฒนามาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูงยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา
 

อาชญากรรมไซเบอร์ครั้งสำคัญที่โลกต้องจดจำ

ในช่วงต้นปี 2021 บริษัทในสหรัฐฯ กว่า 30,000 แห่ง ได้รับผลกระทบจากการโจมตีเซิร์ฟเวอร์อีเมล Microsoft Exchange อย่างกว้างขวาง แฮกเกอร์สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่แบบ Zero-day สี่ช่องโหว่ในซอฟต์แวร์ Microsoft Exchange ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงอีเมลจากธุรกิจขนาดเล็กไปยังรัฐบาลท้องถิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยแฮกเกอร์ ที่คาดว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนชื่อ Hafnium สามารถเข้าควบคุมเซิร์ฟเวอร์ Exchange ที่มีช่องโหว่ได้ โดยการใช้ประโยชน์จากข้อบกพร่องของซอฟต์แวร์
 
สิ่งนี้ทำให้พวกเขาสามารถร้องขอการเข้าถึงข้อมูล ติดตั้งมัลแวร์ และเข้าถึงระบบอื่นๆ บนเครือข่ายที่ถูกบุกรุกได้การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทราวๆ 60,000 แห่งทั่วโลก และยิ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่เกิดจากกลุ่มแฮกเกอร์ที่มีความซับซ้อนและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับชาติ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่แบบ Zero-day เพื่อดำเนินการโจมตีขนาดใหญ่ได้
 
การแฮก Microsoft Exchange ในครั้งนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความเสียหายที่สำคัญที่อาจเกิดจากผู้คุกคามที่มีทักษะในระดับเชี่ยวชาญ ซึ่งกำหนดเป้าหมายไปที่แพลตฟอร์มเทคโนโลยีหลักๆ ที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกใช้งาน โดยทำหน้าที่เป็นตัวอย่างที่สำคัญของภาพรวมภัยคุกคามที่กำลังพัฒนาและเป็นอันตราย ซึ่งทุกบริษัททั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กจะต้องเตรียมพร้อมที่จะป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
 
มาถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าการแฮก สามารถเป็นปรากฏการณ์สำคัญระดับโลก โดยแฮกเกอร์มักจะมุ่งเป้าไปที่ช่องโหว่ใดๆ ก็ตามที่พวกเขาพบ ยกตัวอย่างใกล้ตัวพวกเราที่สามารถถูกแฮกเกอร์โจมตีได้อย่างง่ายดาย คือ เครือข่าย Wi-Fi สาธารณะ เนื่องจากแฮกเกอร์ที่เชี่ยวชาญจะสามารถสร้างฮอตสปอตปลอมหรือใช้การโจมตีแบบแทรกกลางหรือดักกลางทาง (Man-in-the-middle attack) เพื่อสกัดกั้นข้อมูล นอกจากนี้ แฮกเกอร์ที่ใช้แรนซัมแวร์ (Ransomware) ซึ่งเป็นมัลแวร์ (Malware) ประเภทหนึ่ง เพื่อเรียกร้องการชำระเงินเพื่อแลกกับการปลดล็อคข้อมูลก็กลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญเช่นกันในปัจจุบัน 
 
ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง เหล่าอาชญากรไซเบอร์ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จะต้องก้าวนำหน้าภัยคุกคามเหล่านี้ด้วยการอัปเดตทักษะและความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อนำหน้าภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กำลังพัฒนาอยู่เสมอ
 

Hacker มีกี่ประเภท

ประเภทของ Hacker
ความจริงแล้วแฮกเกอร์มีอยู่หลายประเภทนะครับ ซึ่งแต่ละประเภทก็มีแรงจูงใจและพฤติกรรมในการแฮกที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน เรามาดูคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับแฮกเกอร์แต่ละประเภทกันครับ
 

1. แฮกเกอร์หมวกขาว (White Hat Hackers)  

White Hat Hackers ภารกิจของพวกเขา คือ เพื่อปกป้ององค์กรจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ พวกเขาไม่ประสงค์ร้ายต่อใคร มักได้รับการว่าจ้างให้ค้นหาช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในระบบไซเบอร์ที่มีอยู่ขององค์กรต่างๆ ทำงานภายใต้ขอบเขตทางกฎหมายและจริยธรรม เพื่อให้มั่นใจในการปกป้องข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์จากการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ที่เป็นอันตราย เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ใช้ทักษะและความรู้ในการแฮกเพื่อระบุช่องโหว่และจุดอ่อนในระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่าย และแอปพลิเคชันโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของระบบนั่นเอง
 

2. แฮกเกอร์หมวกดำ (Black Hat Hackers)

Black Hat Hackers ภารกิจของพวกเขา คือ การหากำไรจากการละเมิดข้อมูล จัดว่าเป็นแฮกเกอร์ที่อันตรายต่อระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างยิ่ง แฮกเกอร์หมวกดำมักจะทำการโจมตีทางไซเบอร์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน พวกเขาใช้ทักษะของตนเพื่อใช้ประโยชน์จากช่องโหว่และจุดอ่อนของระบบ ซึ่งมักจะก่อให้เกิดอันตรายหรือขโมยข้อมูลที่สำคัญหรือมีความละเอียดอ่อน เรียกได้ว่ากิจกรรมของพวกเขาข่ายการก่ออาชญากรรม
 

3. แฮกเกอร์หมวกเทา (Gray Hat Hackers)

Gray Hat Hackers ภารกิจของพวกเขา คือการท้าทายตัวเอง พวกเขามีความทะเยอทะยาน ชอบที่จะค้นหาและใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ด้านความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต สิ่งที่แตกต่างคือ พวกเขาอาจมีทั้งเจตนาดีและเจตนาร้าย ซึ่งทำให้ยากต่อการจำแนกการกระทำของพวกเขาว่าเป็นการกระทำที่ดำหรือขาวล้วนๆ พวกเขาอาจใช้ทักษะของตนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยได้เช่นเดียวกัน หากจะว่าไปแล้วพวกเขาเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างแฮกเกอร์หมวกขาวและแฮกเกอร์หมวกดำ เนื่องจากพวกเขาอาจฝ่าฝืนกฎหมายหรือหาประโยชน์จากช่องโหว่โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่บ่อยครั้งก็มีจุดประสงค์ที่จะเปิดเผยข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยและแจ้งให้เจ้าของทราบแทนที่จะก่อให้เกิดอันตราย 
 

4. แฮกเกอร์หมวกน้ำเงิน (Blue Hat Hackers) 

Blue Hat Hackers ภารกิจของพวกเขา คือ การทำให้ซอฟต์แวร์ที่ยังไม่เผยแพร่มีความสมบูรณ์แบบ แฮกเกอร์หมวกน้ำเงินมักได้รับการว่าจ้างให้ทดสอบซอฟต์แวร์เพื่อหาข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ด้านความลอดภัยก่อนที่ซอฟแวร์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ จะเผยแพร่ พวกเขามักจะได้รับมอบหมายจากบริษัทภายนอกและทำงานภายในขอบเขตทางกฎหมายเพื่อระบุและแก้ไขช่องโหว่ที่อาจตรวจพบ หากจะว่าไปแล้วพวกเขาก็คือบุคคลกลุ่มย่อยของแฮกเกอร์หมวกขาวที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทภายนอกให้ทำการทดสอบการเจาะระบบและตรวจหาจุดบกพร่องและช่องโหว่ก่อนการเปิดตัวนั่นเองครับ
 

5. แฮกเกอร์หมวกแดง (Red Hat Hackers)

ภารกิจของ Red Hat Hackers คือ การหยุดยั้งแฮกเกอร์หมวกดำโดยเฉพาะ แฮกเกอร์หมวกแดงขึ้นชื่อในเรื่องแนวทางที่ค่อนข้างดุดันแข็งกร้าวและเด็ดขาดในการจัดการกับการกระทำของแฮกเกอร์หมวกดำ พวกเขาอาจใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การติดมัลแวร์ให้กับระบบ หรือการควบคุมระยะไกลเพื่อหยุดกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มศาลเตี้ยที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการแฮกที่ผิดกฎหมายโดยมีจุดประสงค์ในการลงโทษหรือตอบโต้ผู้กระทำผิด ที่ถูกมองว่าเป็นผู้กระทำผิด เช่น อาชญากรไซเบอร์หรือองค์กรที่ผิดจรรยาบรรณ เป็นต้น
 

6. แฮกเกอร์หมวกเขียว  (Green Hat  Hackers)

ภารกิจของแฮกเกอร์หมวกเขียว คือ เพื่อเรียนรู้และปรับปรุง พวกเขามักมีความอยากรู้อยากเห็น และมักจะเป็นแฮกเกอร์มือใหม่ที่ยังต้องเรียนรู้เทคนิคการแฮกและทดสอบการโจมตีทางไซเบอร์ต่างๆ อีกมากเพื่อเพิ่มความแกร่งกล้าและสร้างชื่อในชุมชนของเหล่าแฮกเกอร์ ซึ่งการกระทำของพวกเขาอาจก่อให้เกิดอันตรายโดยไม่ได้ตั้งใจโดยวิธีทดสอบที่อาจไม่ทันได้ตระหนักถึงผลเสียที่อาจตามมาในภายหลัง
 

7. แฮกเกอร์มือสมัครเล่น (Script Kiddies Hackers)

ภารกิจของแฮกเกอร์มือสมัครเล่น คือ เพื่อสร้างความวุ่นวายแบบบ้าบิ่น อย่างไรก็ตามพวกเขายังใหม่ต่อการแฮก เพียงใช้สคริปต์ที่เขียนไว้ล่วงหน้าเพื่อแฮกระบบหรือโจมตี โดยมักไม่เข้าใจเทคนิคต่างๆ หรือผลที่ตามมาอย่างถ่องแท้
 

8. แฮกเกอร์นักเคลื่อนไหวทางการเมือง (Hacktivists) 

เรียกได้ว่าเป็นแฮกเกอร์ในคราบของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากภารกิจของพวกเขา คือ การแฮกเพื่อออกแถลงการณ์ เสนอข้อเรียกร้องต่างๆ โดยพวกเขามักดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์ในที่สาธารณะในรูปแบบของการประท้วงทางการเมืองหรือสังคม พวกเขาเจาะระบบเพื่อเข้าถึงไฟล์คอมพิวเตอร์และเครือข่ายของรัฐบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อจุดประสงค์ทางสังคมหรือการเมืองในรูปแบบต่างๆ
 

9. แฮกเกอร์ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน (State/Nation Sponsored Hackers)

แฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ/ประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Advanced Persistent Threat (APT) คือ กลุ่มแฮกเกอร์ที่ทำงานภายใต้การดูแลหรือการสนับสนุนของรัฐชาติหรือหน่วยงานของรัฐบาล โดยทั่วไปกลุ่มแฮกเกอร์เหล่านี้จะมีทรัพยากรเพียงพอ มีทักษะสูง และมีส่วนร่วมในการจารกรรมทางไซเบอร์ สงครามไซเบอร์ระหว่างประเทศ หรือกิจกรรมที่เป็นอันตรายอื่นๆ เพื่อมอบผลผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ต่อหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนพวกเขา
 

10. บุคคลภายในที่เป็นอันตราย (Malicious Insiders)

เป็นแฮกเกอร์ที่มักฉวยโอกาสเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับองค์กร สิ่งที่น่ากลัวคือ พวกเขามักเป็นคนวงในที่มีสิทธิ์เข้าถึงระบบ ข้อมูล หรือสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดขององค์กรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับใช้สิทธิ์การเข้าถึงนั้นในทางที่ผิดเพื่อจุดประสงค์ที่เป็นอันตราย ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นพนักงานของบริษัทหรือหน่วยงานของรัฐที่มีความขุ่นเคืองต่อองค์กรที่ตัวเองทำงานให้ ซึ่งพวกเขาอาจใช้การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อแบล็กเมล์องค์กรเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวโดยเฉพาะ พวกเขาสามารถก่อให้เกิดภัยคุกคามที่สำคัญต่อความปลอดภัยขององค์กร และอาจได้รับแรงจูงใจจากหลายสาเหตุ รวมถึงผลประโยชน์ทางการเงิน การแก้แค้น อุดมการณ์ หรือความปรารถนาที่จะทำให้เกิดการหยุดชะงักของธุรกิจ เป็นต้น 
 

รูปแบบการโจมตีของแฮกเกอร์ในปัจจุบัน

รูปแบบการโจมตีของ Hacker ในปัจจุบัน

รูปแบบของการโจมตีทางไซเบอร์นั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของอาชญากรไซเบอร์ การโจมตีทางไซเบอร์นั้นเน้นให้เห็นถึงแนวโน้มสำคัญหลายประการที่องค์กรต่างๆ ต้องตระหนักแนวโน้มเหล่านี้รวมถึงการใช้การโจมตีที่สร้างโดย AI ที่เพิ่มมากขึ้น การโจมตีในระดับโลกโดยแฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบางประเทศ และการเพิ่มขึ้นของแรนซัมแวร์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความถี่ของการละเมิดข้อมูลที่เพิ่มขึ้นได้กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรในการต้องหามาตรการในการปกป้องข้อมูลและระบบของตน ซึ่งในส่วนนี้เราจะพูดถึงรูปแบบการโจมตีของแฮกเกอร์ในปัจจุบันว่ามีรูปแบบใดบ้างครับ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลสรุปโดยย่อเกี่ยวกับประเภทการโจมตีของแฮกเกอร์ที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน 

1. การโจมตีด้วยมัลแวร์ (Malware Attacks)

การโจมตีด้วยมัลแวร์ หมายถึง การใช้ซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย เช่น ไวรัส เวิร์ม โทรจัน แรนซัมแวร์ สปายแวร์ และแอดแวร์ และอื่นๆ ที่สามารถทำให้ระบบติดไวรัส  เป้าหมายคือเพื่อขโมยข้อมูลหรือกักข้อมูลไว้เพื่อเรียกค่าไถกับผู้ที่เป็นเจ้าของระบบ การถูกโจมตีด้วยมัลแวร์อาจส่งผลกระทบร้ายแรง อาทิ การสูญเสียข้อมูล ความเสียหายของระบบ การสูญเสียทางการเงิน และความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กร 

 

2. การโจมตีแบบฟิชชิ่ง (Phishing Attacks)

เป็นรูปแบบที่ผู้โจมตีจะใช้อีเมล ข้อความ หรือเว็บไซต์หลอกลวง เพื่อหลอกให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือทำการติดตั้งมัลแวร์ สำหรับองค์กรต่างๆ เราสามารถป้องกันการโจมตีแบบฟิชชิ่งโดยการฝึกอบรมพนักงานให้จดจำข้อความที่น่าสงสัย โดยใช้การตรวจสอบสิทธิ์ หรือ การรับรองความถูกต้องแบบหลายปัจจัย Multi-Factor Authentication (MFA) และตรวจสอบความถูกต้องของคำขอ เป็นต้น 

 

3. การโจมตีแบบแทรกกลางระหว่างบุคคล (Man-in-the-Middle Attacks)

การโจมตีแบบคนกลาง (MITM) เป็นการโจมตีทางไซเบอร์ประเภทหนึ่งที่ผู้โจมตีแทรกตัวเองระหว่างสองฝ่ายที่เชื่อว่าพวกเขากำลังสื่อสารกันโดยตรง ผู้โจมตีสามารถสกัดกั้น ติดตาม และอาจแก้ไขการสื่อสารระหว่างทั้งสองฝ่ายโดยที่พวกเขาไม่รู้  ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่คุณจำเป็นต้องใช้ Wi-Fi สาธารณะ ควรระวังเว็บไซต์ปลอมเพื่อป้องกันการโจมตีในลักษณะนี้ 

 

4. การโจมตีแบบ Zero-Day Exploits

การใช้ประโยชน์จากช่องโหว่แบบซีโร่เดย์ คือ การโจมตีทางไซเบอร์ประเภทหนึ่งที่ผู้โจมตีใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่ไม่รู้จักมาก่อนในซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ ก่อนที่จะมีการพัฒนาแพตช์เพื่อแก้ไข ซึ่งหมายความว่าผู้จำหน่ายซอฟแวร์แอนตไวรัสต่างๆ ยังไม่ทราบช่องโหว่นี้ ดังนั้นจึงไม่มีโปรแกรมแก้ไขหรือโปรแกรมแก้ไขเพื่อป้องกันการโจมตี  อย่างไรก็ตามโซลูชันแอนติไวรัสเจเนอเรชันใหม่ๆ ในปัจจุบัยสามารถให้การป้องกันภัยคุกคามแบบซีโรเดย์ได้บางส่วน

 

5. การโจมตีแบบปฏิเสธการบริการ (DoS)

การโจมตีแบบปฏิเสธการให้บริการ (DoS) คือ การโจมตีทางไซเบอร์ที่ออกแบบมาเพื่อขัดขวางการทำงานตามปกติและความพร้อมใช้งานของระบบ เครือข่าย หรือเว็บไซต์ โดยการทำให้เกิดการรับส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือคำขอที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เป้าหมายหลักของการโจมตี DoS คือการทำให้ระบบหรือบริการเป้าหมายไม่พร้อมใช้งานสำหรับผู้ใช้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการใช้ทรัพยากร เช่น แบนด์วิธ พลังการประมวลผล หรือหน่วยความจำจนหมด ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มของระบบ การหมดเวลา หรือประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการอย่างมีประสิทธิภาพได้

 

6. การโจมตีแบบแทรก SQL (SQL Injection)

การแทรก SQL คือ การโจมตีทางไซเบอร์ประเภทหนึ่งที่พุ่งเป้ไปที่เว็บแอปพลิเคชัน หรือระบบที่ใช้ Structured Query Language (SQL) เพื่อโต้ตอบกับฐานข้อมูล เป็นเทคนิคที่ผู้โจมตีใช้เพื่อหาช่องโหว่ในโค้ดของแอปพลิเคชันและเข้าถึงฐานข้อมูลที่ซ่อนอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยผู้โจมตีจะสร้างคำสั่ง SQL ที่เป็นอันตรายและแทรกลงในช่องป้อนข้อมูลของแอปพลิเคชัน เช่น แบบฟอร์มเข้าสู่ระบบ ช่องค้นหา หากแอปพลิเคชันล้มเหลวในการจัดการกับไวรัส หรือตรวจสอบอินพุตของผู้ใช้อย่างเหมาะสม แฮกเกอร์จะสามารถดำเนินการสร้างคำสั่ง SQL ที่เป็นอันตรายได้

7. วิศวกรรมสังคม (Social Engineering)

เป็นเทคนิคที่อาชญากรไซเบอร์ และแฮกเกอร์ใช้เพื่อจัดการและใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อการเข้าถึงระบบ เครือข่าย หรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยอาศัยการบงการทางจิตวิทยามากกว่าวิธีการ แฮกทางเทคนิค

 

วิธีป้องกันบัญชีโซเชียลมีเดียและอีเมลจาก Hacker

วิธีป้องกันการโจมตีจาก Hacker

ปัจจุบันแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ มักตกเป็นเป้าหมายหลักสำหรับแฮกเกอร์ เนื่องจากมีฐานผู้ใช้จำนวนมากและมีข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนมากมาย โดยแฮกเกอร์จะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook Twitter Instagram และ YouTube ตลอดจนบัญชีอีเมล อาทิ Gmail กำลังตกเป็นเป้าหมายอย่างหนักในปัจจุบัน โดยมีบัญชีหลายล้านบัญชีที่ถูกบุกรุกทุกวัน โดยแฮกเกอร์มักจะใช้ประโยชน์จากวิศวกรรมสังคม หรือ ศิลปะการหลอกลวงผู้คนเพื่อผลประโยชน์ตามที่แฮกเกอร์ต้องการ ตลอดจนแนวโน้มที่ผู้ใช้จะใช้รหัสผ่านซ้ำข้ามบัญชีต่างๆ อย่างไรก็ตามการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยเชิงรุกจะช่วยลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อการโจมตีด้วยการแฮกโซเชียลมีเดียได้

แนวทางป้องกันการถูกแฮกบัญชีโซเชียลมีเดีย 

  • เปิดใช้งานการตรวจสอบสิทธิ์แบบสองปัจจัย หรือ Multi-Factor Authentication (MFA) ในทุกบัญชี
  • หลีกเลี่ยงการใช้รหัสผ่านเดียวกันในหลายบัญชี เปลี่ยนรหัสผ่านทั้งหมดหลังจากสามเดือน เพื่อลดความเสี่ยงของรหัสผ่านเดียวที่ถูกบุกรุกซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายบัญชี[
  • อย่าคลิกลิงก์ที่ส่งโดยบุคคลที่ไม่รู้จักหรือแหล่งที่น่าสงสัย ลิงก์เหล่านี้สามารถเปลี่ยนเส้นทางคุณไปยังเพจปลอมที่ขโมยข้อมูลรับรองการเข้าสู่ระบบของคุณ
  • จำกัดข้อมูลส่วนบุคคลที่แชร์บนโซเชียลมีเดีย
  • ใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส และทำให้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมป้องกันไวรัสของคุณทันสมัยอยู่เสมอ
  • สำหรับองค์กร ให้จัดพนักงานออกเป็นกลุ่มตามบทบาทของตน จำกัดการเข้าถึงเฉพาะฟังก์ชันที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสบนอุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้จัดการบัญชีโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยป้องกันไวรัสและมัลแวร์ไม่ให้ทำลายข้อมูลของคุณและเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต

แนวทางป้องกันการถูกแฮกบัญชีอีเมล

  • หลีกเลี่ยงการเปิดอีเมลจากคนที่ไม่รู้จักหรือชื่อเรื่องอีเมลที่น่าสงสัย อย่าคลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์แนบจากแหล่งที่ไม่รู้จักเพราะลิงก์เหล่านี้อาจมีมัลแวร์หรือลิงก์ฟิชชิ่งแฝงอยู่
  • หลีกเลี่ยงการใช้รหัสผ่านเดียวกันในหลายบัญชี เลือกรหัสผ่านที่ประกอบด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก ตัวเลข และสัญลักษณ์ผสมกัน ควรมีความยาวอย่างน้อย 12 ตัวอักษร
  • เปิดใช้งานการตรวจสอบสิทธิ์แบบสองปัจจัย หรือ Multi-Factor Authentication (MFA)
  • ตรวจสอบการตั้งค่าการส่งต่ออีเมลของคุณให้แน่ใจว่าไม่มีการเพิ่มที่อยู่อีเมลที่ไม่คาดคิดในการส่งต่ออีเมลของคุณ
  • ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม ลองใช้ตัวจัดการรหัสผ่านเพื่อจัดเก็บและสร้างรหัสผ่านที่คาดเดายากอย่างปลอดภัย
  • ติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันมัลแวร์เพื่อตรวจจับและลบมัลแวร์ที่อาจมีอยู่ในคอมพิวเตอร์ของคุณ
  • ใช้การตั้งค่าความปลอดภัยของ Google ปิดใช้งานการเข้าถึง POP3 และ IMAP หากไม่จำเป็น
  • ตั้งค่าตัวจัดการบัญชีที่ไม่ใช้งานเพื่อให้แน่ใจว่าบัญชีของคุณถูกลบหรือมอบสิทธิ์การเข้าถึงให้กับบุคคลที่คุณไว้วางใจหากคุณไม่สามารถเข้าถึงได้
  • เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์และอีเมลสำหรับการกู้คืนเพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะสามารถเข้าถึงบัญชีของคุณได้อีกครั้งหากคุณลืมรหัสผ่าน
  • เรียกใช้การตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อตรวจสอบกิจกรรมบัญชีของคุณ ประวัติการลงชื่อเข้าใช้ และการเข้าถึงแอปของบุคคลที่สาม
 
 
แหล่งที่มา :
 
 

บทความแนะนำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *