วิธีสังเกตกลลวง มิจฉาชีพ หลอกรับสมัครงานการตลาดปลอม อ่านเลย!

มิจฉาชีพ งานการตลาดปลอม

มิจฉาชีพ รับสมัครงานการตลาดปลอม – ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ท่ามกลางคนตกงานจำนวนมาก ผู้คนต่างขวนขวายหางานทำ แต่ไม่วายยังมีผู้ไม่หวังดีตอกย้ำความลำบากของผู้คนด้วยการเปิดรับสมัครงานการตลาดออนไลน์ปลอมให้ผู้คนหลงเชื่อ แทนที่จะได้เงินจากการทำงานกลับต้องเสียเงินเสียทองกันมานักต่อนัก อย่างไรก็ตาม วันนี้ Talka มีเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยให้คุณไม่พลาดตกเป็นเหยื่อการเปิดรับสมัครงานการตลาดปลอมบนโลกออนไลน์มาฝากกันครับ 

งานการตลาดปลอมโดย มิจฉาชีพ คืออะไร?

งานการตลาดปลอม คืออะไร?

งานการตลาดปลอมโดย มิจฉาชีพ หมายถึง โฆษณาหลอกลวงเกี่ยวกับโอกาสในการจ้างงานที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งถือเป็นการหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพ โพสต์สมัครงานเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อเอาเปรียบผู้ที่กำลังมองหางานทำ โดยมักจะมุ่งหมายที่จะขโมยข้อมูลส่วนบุคคล หรือเรียกร้องเงินภายใต้ข้ออ้างเท็จ ผู้หลอกลวงมักจะสัญญาว่าจะให้เงินเดือนสูงหรือผลประโยชน์ที่ไม่สมเหตุสมผลเพื่อหลอกล่อผู้สมัครให้เปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือหลอกให้ชำระเงิน สำหรับการสมัคร การฝึกอบรม หรือผลประโยชน์ที่อ้างว่าผู้สมัครจะได้รับ เป็นต้น

ในยุคดิจิทัลที่การทำงานออนไลน์กำลังเฟื่องฟู มิจฉาชีพก็ไม่พลาดที่จะฉวยโอกาสหลอกลวงผู้คนผ่านการรับสมัครงานการตลาดออนไลน์ปลอม อย่างไรก็ตามวันนี้เราจะช่วยให้คุณเรียนรู้วิธีสังเกตกลลวงเหล่านี้ และป้องกันตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ด้วยในปัจจุบันเคสการหลอกลวงผ่านงานการตลาดออนไลน์ปลอมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งจากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่าในปี 2564 มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า 10,000 ราย เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนหน้าเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันมิจฉาชีพยังคงใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการหลอกลวงผู้คน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลและผู้คนได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการเพิ่มความระมัดระวังและการตรวจสอบข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันตัวเองจากภัยเหล่านี้

วิธีสังเกตงานการตลาดปลอมโดย มิจฉาชีพ

วิธีสังเกตงานการตลาดปลอมโดย มิจฉาชีพ

วิธีสังเกตงานการตลาดปลอม โดยมิจฉาชีพ

1. ข้อเสนอที่ดีเกินจริง

มิจฉาชีพมักใช้ข้อเสนอที่ดูน่าสนใจเกินความเป็นจริงเพื่อล่อลวงเหยื่อ เช่น รายได้สูงผิดปกติสำหรับงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะพิเศษ ชั่วโมงการทำงานที่น้อยแต่ได้ผลตอบแทนสูง การรับประกันรายได้ที่แน่นอนโดยไม่มีเงื่อนไขหรือรายละเอียดที่ชัดเจน หากพบข้อเสนอลักษณะนี้ควรระมัดระวังและตรวจสอบให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ

2. ไม่มีข้อมูลบริษัทที่ชัดเจน

งานการตลาดปลอมมักไม่ให้ข้อมูลบริษัทที่ชัดเจน หรือไม่ให้ข้อมูลที่ผู้สมัครสามารถนำไปตรวจสอบได้ จุดสังเกต คือ การไม่มีที่อยู่บริษัทที่ชัดเจน ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่เป็นทางการ ไม่มีเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียที่เชื่อถือได้

3. กระบวนการสมัครงานที่ไม่เป็นมาตรฐาน

มิจฉาชีพมักใช้กระบวนการสมัครงานที่ไม่เป็นมาตรฐาน เช่น ไม่มีการสัมภาษณ์งานอย่างเป็นทางการ มีการร้องขอข้อมูลส่วนตัวที่ไม่จำเป็นต่อการสมัครงาน เช่น เลขบัญชีธนาคาร นอกจากนี้ยังมีการใช้แอปพลิเคชันการส่งข้อความที่ไม่เป็นทางการในการติดต่อกับผู้ที่สนใจสมัครงาน

4. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้า

งานการตลาดที่แท้จริงจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ จากผู้สมัคร หากมีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เป็นค่าสมัคร ค่าอุปกรณ์การทำงาน ค่าฝึกอบรม ค่าลงทะเบียน ทั้งหมดล้วนเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าอาจเป็นงานการตลาดปลอมจากมิจฉาชีพได้

5. ไม่มีรายละเอียดงานที่ชัดเจน

งานการตลาดปลอมมักไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะงานที่ชัดเจน หรือให้ข้อมูลที่ดูคลุมเครือ เช่น ไม่ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะต้องทำการตลาด ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรหรือทีมงาน ในทางกลับกันโพสต์รับสมัครงานที่ถูกต้องตามกฎหมายมักจะให้รายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบ และคุณสมบัติต่างๆ ของผู้สมัครเสมอ

6. ใช้ภาษาที่เร่งรัดหรือสร้างความกดดัน

มิจฉาชีพมักใช้ภาษาที่เร่งรัด หรือสร้างความกดดันให้ผู้สนใจสมัครงานต้องตัดสินใจเร็วๆ ด้วยการสร้างความรู้สึกเร่งด่วน โดยกดดันผู้สมัครให้ตัดสมัครอย่างรวดเร็ว เช่น แจ้งว่า “โอกาสมีจำกัด ต้องตัดสินใจภายในวันนี้”  “หากไม่รีบสมัคร จะเสียโอกาสทองไป” หรือ “มีคนสนใจเยอะมาก ต้องรีบตัดสินใจ” เป็นต้น

7. ไม่มีสัญญาจ้างงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร

การประกาศรับสมัครงานที่ถูกต้องตามกฎหมายจะมีสัญญาจ้างงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีการระบุเงื่อนไขการจ้างงาน สิทธิประโยชน์ และความรับผิดชอบอย่างชัดเจน หากพบว่าการสมัครงานนั้นไม่มีสัญญาหรือมีเพียงข้อตกลงปากเปล่า ควรระมัดระวังว่าจะเป็นการตั้งใจหลอกลวงจากมิจฉาชีพ

8. ไม่มีการตรวจสอบประวัติหรือคุณสมบัติ

บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือจะมีกระบวนการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติของผู้สมัครอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งถ้าหากคุณพบว่าไม่มีการตรวจสอบใดๆ เลย นี่อาจเป็นสัญญาณของงานการตลาดปลอม ประกาศงานที่ไม่ต้องการการตรวจสอบประวัติหรือคุณสมบัติย่อมแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพ และขาดมาตรฐานในการสรรหาบุคลากร ซึ่งมักจะเป็นสัญญาณว่าอาจมีเจตนาที่ไม่ดี เช่น การหลอกลวงหรือการขโมยข้อมูลส่วนตัว โดยมิจฉาชีพมักใช้กลยุทธ์ในการขอข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อน เช่น เลขบัตรประชาชน หรือเลขบัญชีธนาคาร โดยไม่ผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์หรือการตรวจสอบที่เหมาะสม หากประกาศงานไม่ต้องการข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของการหลอกลวงได้

9. ใช้ช่องทางการติดต่อที่ไม่เป็นทางการ

การใช้ช่องทางการติดต่อที่ไม่เป็นทางการของผู้รับสมัครงานปลอมหมายถึงการติดต่อผู้สมัครผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นทางการ เช่น LINE, Messenger หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ซึ่งงานการตลาดปลอมมักจะถูกโพสต์ในกลุ่ม Facebook หรือ TikTok ด้วยรูปแบบที่ดึงดูด และให้เงินเดือนสูงเกินจริง แทนที่จะใช้ช่องทางที่เป็นทางการอย่างอีเมลบริษัทหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งสิ่งนี้สามารถบ่งชี้ถึงความไม่เป็นมืออาชีพและความเสี่ยงในการถูกหลอกลวงได้ การใช้ช่องทางการติดต่อที่ไม่เป็นทางการในการรับสมัครงานสามารถบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง ซึ่งผู้สนใจสมัครงานควรใช้ความระมัดระวังในการตอบสนองต่อข้อเสนอเหล่านี้

6 วิธี ป้องกันการตกเป็นเหยื่อ งานการตลาดปลอม

6 วิธีป้องกันการตลกเป็นเหยื่อรับสมัครงานการตลาดปลอม

วิธีป้องกันตัวเองจาก มิจฉาชีพ

1. ตรวจสอบข้อมูลบริษัทอย่างละเอียด

ค้นหาข้อมูลบริษัทผ่านเว็บไซต์ทางการและโซเชียลมีเดีย เช่น ตรวจสอบการจดทะเบียนบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยใช้บริการจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ซึ่งมีฐานข้อมูลที่สามารถตรวจสอบสถานะของบริษัทได้ โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ dbd.go.th และเลือกเมนู “บริการออนไลน์” จากนั้นเลือก “DBD DataWarehouse+” เพื่อค้นหาข้อมูลนิติบุคคล เช่น วันจดทะเบียน ทุนจดทะเบียน รายได้และกำไร หรือ อ่านรีวิวและความคิดเห็นจากพนักงานปัจจุบันหรืออดีตพนักงาน การตรวจสอบข้อมูลบริษัทอย่างละเอียดจะช่วยให้คุณป้องกันการตกเป็นเหยื่อของงานการตลาดปลอมและทำให้มั่นใจในความน่าเชื่อถือของธุรกิจที่คุณจะร่วมงานด้วย

2. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ

ไม่ให้เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ก่อนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัท ระมัดระวังการกรอกข้อมูลในฟอร์มออนไลน์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของผู้รับสมัครงานปลอม ซึ่งสามารถทำได้โดยการระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจถูกใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นอันตราย โดยเฉพาะในกระบวนการสมัครงานออนไลน์

3. สอบถามรายละเอียดงานให้ชัดเจน

การสอบถามรายละเอียดงานให้ชัดเจนเป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อของการรับสมัครงานการตลาดปลอม โดยการสอบถามอย่างละเอียดจะช่วยให้ผู้สมัครสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของประกาศงานและบริษัทนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น ควรขอรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะงาน ที่สำคัญ เช่น

  • ตำแหน่งและหน้าที่ : ถามให้ชัดเจนเกี่ยวกับตำแหน่งที่สมัครและหน้าที่ที่ต้องทำ เช่น ขอรายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่หลักของตำแหน่งนี้ได้ไหม?
  • เงื่อนไขการทำงาน : ถามเกี่ยวกับเวลาทำงาน สถานที่ทำงาน และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เวลาทำงานคือกี่โมงถึงกี่โมง?
  • ชื่อบริษัทและข้อมูลการติดต่อ: ขอให้ระบุชื่อบริษัทที่ชัดเจนและข้อมูลการติดต่อ เช่น บริษัทมีเว็บไซต์หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ไหม?
  • ประวัติและความน่าเชื่อถือของบริษัท: สอบถามเกี่ยวกับประวัติของบริษัท เช่น บริษัทนี้ดำเนินกิจการมานานแค่ไหน?
  • คุณสมบัติที่ต้องการ : ถามเกี่ยวกับคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนี้ เช่น มีคุณสมบัติอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับผู้สมัครในตำแหน่งนี้?
  • กระบวนการสัมภาษณ์ : สอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนการสัมภาษณ์ เช่น ขั้นตอนการสัมภาษณ์มีอะไรบ้าง?
  • เงินเดือนและสวัสดิการ : ขอข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนและสวัสดิการที่บริษัทเสนอ เช่น เงินเดือนสำหรับตำแหน่งนี้อยู่ในช่วงไหน? มีสวัสดิการอะไรบ้าง?

4. ไม่โอนเงินหรือจ่ายค่าธรรมเนียมใดๆ ล่วงหน้า

ปฏิเสธการจ่ายเงินใดๆ ก่อนเริ่มทำงาน  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากมีการเรียกเก็บเงิน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นการหลอกลวง ซึ่งการโอนเงินให้กับผู้ที่ไม่รู้จักหรือบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือสามารถ นำไปสู่การสูญเสียเงินโดยไม่มีโอกาสได้รับงานหรือบริการใดๆ กลับคืน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ควรพิจาณา คือ

  • ไม่มีองค์กรที่น่าเชื่อถือเรียกเก็บเงินจากผู้สมัคร : บริษัทที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ จะไม่ร้องขอให้ผู้สมัครต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้นสำหรับการสมัครงาน หรือค่าฝึกอบรมก่อนที่จะมีการสัมภาษณ์หรือตกลงเข้าทำงาน
  • สัญญาณของการหลอกลวง : หากมีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า มักจะเป็นกลยุทธ์ของมิจฉาชีพในการหลอกลวง โดยอาจอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ค่าสมัคร ค่าฝึกอบรม หรือค่าเอกสาร เป็นต้น

5. ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปรึกษากับผู้มีประสบการณ์ในวงการการตลาดออนไลน์ สอบถามข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานหรือกระทรวงแรงงาน เป็นต้น

6. ใช้วิจารณญาณและไม่ตัดสินใจด้วยความเร่งรีบ

พิจารณาข้อเสนองานอย่างรอบคอบ ไม่ตัดสินใจด้วยอารมณ์หรือความเร่งรีบ หากรู้สึกไม่มั่นใจหรือมีข้อสงสัยต่างๆ ให้ชะลอการตัดสินใจและหาข้อมูลเพิ่มเติมทันทีถ้าหากคุณพบเห็นการรับสมัครงานปลอมทางออนไลน์ สามารถแจ้งได้ที่หน่วยงาน หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ดังนี้

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า : สามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีระบบตรวจสอบข้อมูลบริษัทและสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการได้
  • สถานีตำรวจ หากคุณตกเป็นเหยื่อหรือมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการหลอกลวง สามารถเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ 
  • เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง : หากพบประกาศงานปลอมในเว็บไซต์หางาน เช่น JobsDB, Indeed, หรือ LinkedIn ควรรายงานไปยังแพลตฟอร์มเหล่านั้น เพื่อให้พวกเขาสามารถตรวจสอบและลบประกาศที่ไม่เหมาะสมออก
  • สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) : สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการหลอกลวงหรือกิจกรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย
  • รายงานผ่านช่องทางออนไลน์ : บางหน่วยงานอาจมีช่องทางออนไลน์สำหรับรายงานปัญหา เช่น เว็บไซต์ของตำรวจหรือหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งเบาะแสได้
  • แจ้งหน่วยงานที่อาจถูกนำชื่อไปแอบอ้าง : แจ้งข้อมูลการหลอกลวงไปยังหน่วยงานที่คุณสงสัยว่าพวกเขาถูกมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อหน่วยงานนั้นๆ มาใช้ในการเปิดรับสมัครงานปลอมในช่องทางการติดต่อของบริษัทนั้นๆ ข้อสังเกต คือ บริษัทส่วนใหญ่จะไม่มีการติดต่อกับผู้สมัครงานผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Line หรือ Facebook

การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการรับสมัครงานปลอมไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันตัวเอง แต่ยังช่วยปกป้องผู้อื่นจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพด้วย

แหล่งที่มา :

https://thebrandbee.com

https://www.onefence.co

https://www.cotactic.com

https://www.scb.co.th

บทความแนะนำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *