Web 3.0 คือ อะไร? จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าโลกอินเทอร์เน็ตอย่างไร?

Web 3.0 คือ

Web 3.0 คือ –  นาทีนี้ Web 3.0 หรือ Web3 ต่างถูกยกให้เป็น อินเทอร์เน็ตแห่งอนาคต (The Next Era of the Internet ) ที่ว่ากันว่าจะเข้ามาเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้คนในการท่องโลกอินเทอร์เน็ตบนจักรวาลเวิล์ดไวด์เว็บที่เชื่อมโลกใบนี้ไว้ด้วยกัน ด้วยประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นของเทคโนโลยีใหม่ที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น ไม่ต่างจากการมาถึงของ Metaverse , NFTs หรือ Crypto ว่าแต่ Web 3.0 คืออะไร? ตลอดจนวิวัฒนาการของอินเตอร์เน็ตในแต่ละยุคมีที่มาอย่างไร เรามาติดตามพร้อมกันได้ในบทความนี้เลยครับ

วิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ต ก่อน Web3.0

Web 3.0 คือ

ก่อนเข้าเรื่องว่า Web3.0 คือ อะไรเรามาท้าวความถึงประวัติศาสตร์ของอินเทอร์เน็ตกันสักเล็กน้อยครับ แรกเริ่มเดิมที มนุษย์รู้จักเทคโนโลยีที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต ราวปี ค.ศ.1961 ซึ่งเมื่อพูดถึงที่มาของเทคโนโลยีนี้ ผู้คนทั่วโลกมักยกเครดิตให้กับ ลีโอนาร์ด ไคลน์ร็อก (Leonard Kleinrock) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน ที่ผู้คนในแวดวงยกให้เป็น “บิดาแห่งอินเทอร์เน็ต” เนื่องจากเขาคือผู้บุกเบิกทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ของเครือค่ายแพ็คเก็ต (Packet) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้อินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้ โดยต้นแบบของอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีชื่อว่าระบบอาร์พาเน็ต (ARPANET) ที่ในยุคนั้นเป็นเพียงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านการทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ซึ่งต่อมาได้มีการทดลองวิจัยพัฒนา และต่อยอดเครื่อข่ายคอมพิวเตอร์ต่างๆ ออกมาอีกมากมาย จนในที่สุดได้กลายเป็นจุดกำเนิดของอินเทอร์เน็ต ยุค Protocol , TCP/IP , DNS  และ World Wide Web ในเวลาต่อมา ซึ่งจุดกำเนิดของ เวิล์ดไวด์เว็บ ที่ชาวโลกใช้งานในปัจจุบันเริ่มต้นขึ้นในปี 1989 โดยผู้คิดค้นเทคโนโลยี ดับเบิ้ลยูสามตัว ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ได้แก่ ทิม เบิร์นเนอร์-ลี (Tim Berners-Lee) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ ซึ่งต่อไปนี้คือไทม์ไลน์ ในวิวัฒนาการ ของอินเทอร์เน็ต (www) ที่ผู้คนทั่วโลกใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

  • (1990 – 2004) Web 1.0

เว็บ 1.0 ผลงานการคิดค้นของ ทิม เบิร์นเนอร์-ลี เป็นเทคโลยีเว็บไซต์ยุคแรกเริ่ม ที่หลายคนเรียกว่าเว็บยุค Read-Only Web หรือ อ่านได้อย่างเดียว ถือกำเนิดครั้งแรกในปี 1990 และเริ่มเสื่อมความนิยมราวปี 2004 ยุคนี้ คือเทรนด์ของการสื่อสารแบบทางเดียว (One Way Communication) ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้บริโภคเนื้อหาไม่ใช่ผู้ผลิต ซึ่งเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์ต่างๆ มีเพียง Webmaster หรือผู้ดูแลเว็บเท่านั้นที่สามารถอัปเดตหรือจัดการในส่วนของเนื้อหาและข้อมูลต่างๆ ได้ ยังไม่มีการให้ผู้ใช้พิมพ์ข้อความ ความคิดเห็น หรือการโต้ตอบใดๆ ได้ ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ประเภทนี้ที่ยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เช่น เว็บไซต์ประกาศข่าว เว็บไซต์ประกาศรับสมัครงาน หรือ เว็บไซต์ประวัติส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งอาจหลงเหลืออยู่ไม่มากแล้วในโลกของเวิล์ดไวด์เว็บ

  • (2004 – ปัจจุบัน) Web 2.0

Web 2.0 เริ่มต้นในปี 2004 ซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็นเว็บยุค Read-Write Web ซึ่งก็คือรูปแบบส่วนใหญ่ ของเว็บไซต์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ เป็นยุคที่การสื่อสารแบบสองทาง (Two Way Coummnication) บนโลกอินเทอร์เน็ตได้ถือกำเนิดขึ้น อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เช่น การเกิดขึ้นของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซทั้งหลาย การช้อปปิ้งออนไลน์ได้กลายเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ยอดนิยม รวมถึง การแบ่งปันภาพถ่ายและวิดีโอ ตลอดจนเป็นยุคแรกของโซเชียลมีเดีย และ แพลตฟอร์มแชท ในตำนานต่างๆ อาทิ  ICQ , My Space , Hi5 หรือ แม้แต่ Facebook และ Twitter (ใครทัน ICQ กับ My Space น่าจะเป็นรุ่นใหญ่แล้ว 555 ) ตลอดจนเทคโนโลยีทางการเงิน และอื่นๆ อีกมากมายกล่าวคือ บนแพลตฟอร์ม Web 2.0 ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาต่างๆ ให้ปรากฎยังฟอรัม ไซต์เครือข่ายสังคม ไซต์แบ่งปันรูปภาพ หรือ บล็อกได้อย่างอิสระ ซึ่งในช่วง 15 ถึง 20 ปีที่ผ่านมา หน้าเว็บไซต์รูปแบบเดิมๆ ของ Web 1.0 ได้ถูกแทนที่ด้วย Web 2.0 เกือบทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ นวัตกรรมด้านฮาร์ดแวร์ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนมือถือได้ขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่ Web 2.0 อย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว

Web 3.0 คือ อะไร?

Web 3.0 คือ

เมื่อไทม์ไลน์ของอินเทอร์เน็ตได้เดินทางผ่านทั้งยุคบุกเบิกในเมืองลุงแซม มาสู่ ยุค Web 1.0 , Web 2.0 จากแดนผู้ดีอังกฤษ ก็ถึงเวลาที่เหมาะสมแห่งการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสู่อีกขั้นของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต อย่าง Web 3.0 ที่ว่ากันว่าจะกลายเป็น อนาคตของโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งนักการตลาดทั้งหลายอาจต้องสอดส่อง และ ติดตามเทรนด์เอาไว้ ว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะเข้ามามีผลกระทบ หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสใหม่ๆ อย่างไร ในโลกของอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นที่สิงห์สถิตของการตลาดออนไลน์ทั้งหลาย ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจ Web 3.0 ให้มากขึ้นกันต่อไปในส่วนนี้ครับ

Web 3.0 คือ อะไร?

Web 3.0  หรือ Web3 ถูกยกให้เป็น “The Next Era of the Internet” ด้วยคุณสมบัติและความอัจฉริยะที่เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ เว็บไซต์และแอปต่างๆ จะสามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างชาญฉลาดใกล้เคียงมนุษย์ ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Machine Learning (ML) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตลอดจนเทคโนโลยีแยกประเภทแบบใช้ร่วมกัน (DLT) ซึ่งเป็นโครงสร้างดิจิทัลที่ใช้สำหรับการ จัดทำเอกสาร/บันทึกธุรกรรม ของสินทรัพย์ในหลายที่พร้อมกัน ซึ่งแตกต่างจากฐานข้อมูลดั้งเดิม โดยมีการใช้ระบบรักษาความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชนเพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น เป็นต้น

 
แนวคิดเบื้องต้นของ Web 3.0 คือ ความเข้าใจและการตีความบริบทและแนวคิดของข้อมูลจากผู้ใช้งานดังนั้นเมื่อผู้ใช้ค้นหาคำตอบจากเว็บไซต์ เว็บ 3.0 จะสามารถให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและเกี่ยวข้องมากที่สุดแก่ผู้ใช้ปลายทาง ซึ่งด้วยคุณสมบัตินี้จะช่วยให้เว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลได้อย่างมีความหมายมากขึ้น และสามารถปรับแต่งข้อมูลให้เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละราย ดังนั้น จึงเป็นอินเทอร์เน็ตที่พวกเราจะเพลิดเพลินไปกับการโต้ตอบส่วนบุคคลกับอุปกรณ์ต่างๆ และเว็บไซต์ในลักษณะเดียวกับที่เราสื่อสารกับมนุษย์คนอื่น ๆ นั่นเอง และข้อสำคัญที่สุดที่ Web 3.0 จะมอบประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป คือ นอกจากที่ผู้ใช้จะอ่านกับเขียนข้อมูลต่างๆ ได้แล้ว ยังสามารถร่วมเป็นเจ้าของเว็บไซต์ได้ด้วย ซึ่งการเป็นเจ้าของในที่นี้หมายถึงการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับการบริหารเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มได้นั่นเอง
 

เทคโนโลยีใหม่ใน Web3.0

ต่อไปนี้ คือสิ่งที่เราจะพบได้ใน เว็บ 3.0

 
  • เทคโนโลยี Edge Computer

การมาถึงของ web 3.0 กำลังเปลี่ยนผ่านศูนย์ข้อมูลแบบเดิมที่เคยมีให้โยกย้ายออกไปที่ Edge Computing ที่มีความปลอดภัยสูงกว่าบนอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้งาน ทั้งสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ ซึ่งว่ากันว่าจะมีการสร้างและใช้ข้อมูลมากกว่า160 เท่าในปี 2568 เมื่อเทียบกับปี 2553

 
  • โครงข่ายแบบกระจายอำนาจ ( Decentralized Network)

โครงข่ายข้อมูลแบบกระจายอำนาจ หรือ แนวคิดของการกระจายศูนย์ ที่เริ่มมีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในยุคนี้  หรือเรียกอีกอย่างว่า “เว็บไซต์กระจายศูนย์” (Decentralized Web)  ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางที่เป็นผู้เก็บข้อมูลและดำเนินการเพียงผู้เดียว  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตข้อมูลต่างๆ สามารถขายหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลของตนโดยไม่สูญเสียความเป็นเจ้าของ ไม่ถูกคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือต้องพึ่งพาคนกลาง ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคจะมีอำนาจในการควบคุมข้อมูลของตน และสามารถเข้าสู่ระบบต่างๆ บนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยผ่านทางอินเทอร์เน็ต

 

คุณสมบัติหลักของ Web 3.0

ขอเท็จจริงที่แน่นอน ของ Web 3.0  คือ ความสามารถในการจัดระเบียบข้อมูลได้สมเหตุสมผลกว่า Web 2.0 ซึ่งต่อไปนี้เป็นลักษณะสำคัญ 5 ประการ ที่จะช่วยอธิบาย ความเป็น Web 3.0 ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

1. Semantic Web

หรือ เว็บเชิงความหมาย ที่ช่วยปรับปรุงเทคโนโลยีออนไลน์ที่ผู้ใช้สร้างสามารถ แบ่งปัน และเชื่อมโยงเนื้อหาผ่านการค้นหาและการวิเคราะห์ตามความสามารถในการเข้าใจความหมายของคำมากกว่าที่จะเป็นคำหลักหรือตัวเลข  ยกตัวอย่างเช่น เว็บ3 จะสามารถเชื่อมโยงและตีความหมายในเรื่องต่างๆ ได้ถูกต้องตามบริบทมากขึ้น เช่น เมื่อคุณพิมพ์คำว่า “โลกกลม” ระบบจะเข้าใจว่าคุณกำลังสนใจในคำค้นหา ในประเด็น “ความบังเอิญที่เพื่อนใหม่ของเรารู้จักกับเพื่อนเก่าของเรา” หรือ ว่าเรากำลังค้นหา ในประเด็น “ข้อสงสัยในเรื่องรูปทรงของโลกใบนี้” กันแน่ เป็นต้น

 

2. เทคโนโลยี AI

ด้วยเทคโนโลยี AI ที่ก้าวล้ำที่ถูกเสริมเข้ามาใน Web3.0 ส่งผลให้  Machine ต่างๆ สามารถเรียนรู้วิธีการคิดได้ซับซ้อนใกล้เคียงมนุษย์มากยิ่งขึ้น หรืออาจทำได้ดีกว่ามนุษย์ในบางเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราค้นหา คำว่า “Flight to Korea” ใน Google ระบบจะคิดเผื่อต่อยอดมาให้เราเลยว่ามีเมืองไหนบ้างในโซนนั้นที่คนนิยมเดินทางไป รวมถึงข้อมูลในรายละเอียดของเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางจากจุดที่เราอยู่ ตลอดจนบอกเรทราคาเริ่มต้นในการเดินทาง เป็นต้น

 

3. ความสามารถในการเชื่อมต่อ หรือ การมีอยู่ทุกหนแห่ง (Connectivity or Ubiquity)

Web 3.0 จะขจัดข้อด้อยต่างๆ ของ Web 2.0 ส่งผลให้ข้อมูลต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกับ Web 3.0 ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประสบการณ์ของผู้ใช้จึงก้าวไปสู่ระดับใหม่ของการเชื่อมต่อที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เข้าถึงได้ทั้งหมด กล่าวคือ Web 3.0 จะใช้เซ็นเซอร์ IoT เป็นหลัก และทำให้ทุกคนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลา (Ubiquity) และเมื่ออินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา การเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ ก็จะรวดเร็วขึ้น ในอนาคตการเชื่อมต่ออุปกรณ์อย่าง IoT ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อมผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเหมือนกับยุค Web 2.0 อีกต่อไป

 

4. ซอฟต์แวร์สื่อสารกันเอง (Software negotiating with software)

ใน Web2.0 “เบราว์เซอร์และเว็บไซต์” มีปลั๊กอินหรือส่วนขยาย (Add-on) ของเบราว์เซอร์ที่ช่วยเหลือเราในเรื่องต่างๆ เช่น การกรอกรหัสผ่าน และการบล็อกโฆษณาต่างๆ  เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ซอฟต์แวร์ที่ตอบสนองต่อผู้ใช้แบบเรียลไทม์อาจทำให้เว็บไซต์ตอบสนองล่าช้าไปบ้างแต่ใน Web 3.0 จะแตกต่างออกไป เบราว์เซอร์จะเป็นเหมือนระบบปฏิบัติการประเภทหนึ่งที่ใช้รันโปรแกรม ซึ่งปลั๊กอินหรือส่วนขยายในปัจจุบันจะกลายเป็นเหมือนแอปพลิเคชันในขณะที่ยังสามารถแสดงเนื้อหาต่างๆ และวิดีโอได้  ซึ่งผู้ใช้จะสามารถกำหนดรูปแบบของบริการได้โดยตรง เหมือนที่แฮ็กเกอร์และบางเว็บไซต์ทำอยู่ในตอนนี้

5. 3D Graphic หรือ Metaverse

Web 3.0 จะมีลักษณะของการประมวลผลแบบไฮบริดระหว่างข้อมูลจากโลกจริงและโลกเสมือน ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนเชื่อมกันได้แบบไร้รอยต่อ  ซึ่งกราฟิกแบบสามมิติ  หรือ โลกเสมือนจริง จะสามารถเชื่อมต่อกับโลกแห่งความจริงได้อย่างแนบเนียนใน Web 3.0 มักใช้การออกแบบสามมิติในเว็บไซต์และบริการต่างๆ กราฟิก 3 มิติ จะมีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ใหม่อันน่าตื่นเต้นให้แก่ผู้คน ซึ่งไม่ใช่แค่ในเกมแบบ 3 มิติ แต่ยังรวมถึงธุรกิจและอุตสาหกรรมในด้านอื่น ๆ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ และการช้อปปิ้ง เป็นต้น

ทิศทางและแนวโน้มของอินเทอร์เน็ตในอนาคต

Web 3.0 คือ

ในขณะที่เรากำลังทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Web 3.0 ที่เหมือนจะเป็นอนาคตของอินเทอร์เน็ตที่เรากำลังใช้งานกันอยู่  ในทางกลับกัน กระแสของเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า อย่าง Web 4.0 ที่ว่ากันว่าจะเป็นยุคทองของ Internet of Things (IoT) ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ตก็กำลังถูกกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายว่าจะเป็นยุคที่เว็บไซต์ฉลาดล้ำเทียบเท่า หรือ ฉลาดกว่ามนุษย์ขึ้นไปอีกขั้น ยกตัวอย่างในบางมิติของ Web 4.0 คือ AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น อุปกรณ์และแอปพลิเคชันต่างๆ จะรับรู้ถึงความต้องการของมนุษย์อย่างแม่นยำ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยีที่พร้อมจะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่เหนือความคาดหมายของเราได้อยู่ตลอดเวลา

 

 

 

แหล่งที่มา :

https://coinmarketcap.com

https://www.livescience.com

https://ingridzippe.medium.com

บทความแนะนำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *